image banner

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

เลขาธิการ ส.ป.ก.พร้อมคณะลงพื้นที่ตรวจราจการในเขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดสตูล

มิถุนายน 22, 2566 | ข่าวประชาสัมพันธ์

เลขาธิการ ส.ป.ก.พร้อมคณะลงพื้นที่ตรวจราจการในเขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดสตูล

วันที่ 20 มิถุนายน 2566 ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ ส.ป.ก., นายวุฒิพงศ์ เนียมหอม-นายเอกพงศ์ น้อยสร้าง-นายสุรชัย ยุทธชนะ รองเลขาธิการ ส.ป.ก., นายภาชน์ จารุภุมมิก หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรม, นายสมภพ ศรีเจริญ ผู้ตรวจราชการกรม, ผู้อำนวยการสำนัก/กอง/ศูนย์, ปฏิรูปที่ดินทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ ลงพื้นที่ตรวจราชการพร้อมติดตามการดำเนินงานพื้นที่ขอใช้ที่ดินของ อบจ.สตูล ณ บ่อน้ำร้อนทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง พร้อมทั้งเยี่ยมชมวิสาหกิจชุมชนกาแฟบ้านโตนปาหนัน(โกปี้บ้านโตน) ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล ซึ่งเป็นวิสาหกิจชุมชนในเขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดสตูล ที่มีความเข้มแข็ง สามารถผลิต แปรรูป จำหน่ายสินค้าภายในชุมชน โดยนำทุนชุมชนที่ประกอบด้วย ทุนมนุษย์ ทุนทางสังคม ทุนทางวัฒนธรรม ทุนทางธรรมชาติ ทุนทางการเงิน และวิถีการดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย สร้างเสน่ห์จนสามารถยกระดับจากชุมชนเกษตร ให้เป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของอำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล

สำหรับจังหวัดสตูล อนุญาตให้เกษตรกรเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินแล้ว จำนวน 4,497 ราย 6,196 แปลง 40,134 ไร่ ครอบคลุม 5 อำเภอ ประกอบด้วยอำเภอทุ่งหว้า อำเภอละงู อำเภอเมืองสตูล อำเภอควนโดน และอำเภอควนกาหลง ซึ่งอำเภอควนกาหลงอนุญาตให้เกษตรกรเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ 2 ตำบล คือ ตำบลควนกาหลง และตำบลทุ่งนุ้ย ที่เป็นที่ตั้งของวิสาหกิจชุมชนกาแฟโบราณบ้านโตนปาหนัน(โกปี้บ้านโตน) หมู่ที่ 5 ตำบลทุ่งนุ้ย มีเกษตรกรได้รับการจัดที่ดินไปแล้ว จำนวน 42 ราย 54 แปลง เนื้อที่ 348 ไร่ และเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นสมาชิกของวิสาหกิจชุมชนฯ กิจกรรมหลักของวิสาหกิจชุมชนฯ จะประกอบด้วย 8 ฐานการเรียนรู้ ได้แก่ กาแฟโบราณ (โกปี้), ข้าวข้องไผ่, ขนมพื้นเมือง (ขนมกอเดาะ), ผักกูดในเขตปฏิรูปที่ดิน, การใช้ประโยชน์จากสะบ้า, สบู่โกปี้ออแกนิค, แพทย์แผนไทย และท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (ท่องป่าชมไพร คลองสายน้ำใสใต้โคนต้นหว้า) ซึ่งกิจกรรมในวันนี้จะมีการสาธิตกระบวนการผลิตกาแฟโบราณ และการทำขนมกอเดาะให้แก่ทุกท่านที่มาเยี่ยมชม

ในการนี้ เลขาธิการ ส.ป.ก. ได้ชื่นชมการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนฯ ที่มีความเข้มแข็ง ยังคงรักษาวิถีชีวิตเป็นเสน่ห์ของชุมชนไว้ ทั้งนี้ ส.ป.ก. และหน่วยงานร่วมบูรณาการ พร้อมยินดีให้การสนับสนุนองค์ความรู้นอกเหนือจากภูมิปัญญาของชุมชน เพื่อให้เกษตรกรสามารถต่อยอดผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของกลุ่มสืบทอดรุ่นต่อรุ่นได้อย่างยั่งยืนต่อไป

ข่าว : ธิดารัตน์ ซุ้ยขาว

ภาพ : อลงกรณ์ ซอนจำปา

ป้ายกำกับ
ล่าสุด