image banner

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

ส.ป.ก.จัดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ การจัดทำแผนพัฒนางานวิชาการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) พ.ศ. 2569 – 2570

กรกฎาคม 1, 2568 | ข่าวประชาสัมพันธ์

ส.ป.ก.จัดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ การจัดทำแผนพัฒนางานวิชาการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) พ.ศ. 2569 – 2570 

วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ เลขาธิการส.ป.ก. เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ การจัดทำแผนพัฒนางานวิชาการ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) พ.ศ. 2569 – 2570 และมอบแนวคิดในการพัฒนางานวิชาการของ ส.ป.ก. ให้ผู้เข้าสัมมนาจากส่วนกลางและภูมิภาค ได้นำไปแนวทางในการพัฒนางานร่วมกัน ด้วยคำสำคัญ “ACADEMIC” คือ

A - Achievement การมุ่งผลสัมฤทธิ์

การทำงานวิชาการเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม บนพื้นฐานของความมุ่งมั่นเพื่อให้ได้ผลงานตามเป้าหมายที่เกิดประโยชน์ต่อองค์กรและเกษตรกร รวมถึงการปรับปรุงพัฒนาผลงานและกระบวนการปฏิบัติงานให้มีคุณภาพ

และมีประสิทธิภาพอยู่เสมอ

C - Coordination การทำงานร่วมกันภายในองค์กร

งานปฏิรูปที่ดินต้องใช้ความร่วมมือของทุกหน่วยในองค์กร งานวิจัยหรืองานวิชาการเพื่อสนับสนุนงานปฏิรูปที่ดิน บางเรื่องอาจต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และบางเรื่องต้องการองค์ความรู้จากสหวิชาการ ทุกหน่วยในองค์กรจึงต้องร่วมกันทำงานในเชิงวิชาการ เพื่อเป้าหมายเดียวกันในการบริหารจัดการที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่เกษตรกร

A – Applying Technology การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี

การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนงานวิชาการ และอีกนัยหนึ่งคือการศึกษาแนวทางในการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมมาเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการที่ดินและการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

D - Development การพัฒนางานวิชาการอย่างต่อเนื่อง

ควรให้ความสำคัญกับการพัฒนางานวิชาการอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม เพื่อสนับสนุนภารกิจงานปฏิรูปที่ดินในทุกมิติ ทั้งงานบริหารจัดการที่ดิน งานพัฒนาพื้นที่และเกษตรกร การพัฒนาองค์กร รวมถึงประเด็นสากล ประเด็นระดับชาติ หรือแนวโน้มสถานการณ์และความท้าทายในอนาคต ที่อาจส่งผลต่อการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

E - External Funding การแสวงหาแหล่งทุนภายนอก

นโยบายประเทศให้ความสำคัญกับการพัฒนาการวิจัยโดยเฉพาะงานวิจัยที่นำมาซึ่งส่งผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และมีแหล่งทุนวิจัยที่หลากหลาย ซึ่งในการสัมมนาครั้งนี้ ก็ได้มีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานสำคัญด้านวิจัย ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. และ สำนักงานการวิจัยและพัฒนาการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก.

ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้ทุนในการวิจัยด้านการเกษตร ส.ป.ก. ควรแสวงหาช่องทางและโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้ในการวิจัยเพื่อพัฒนาในเขตปฏิรูปที่ดิน

M - Manpower Development การพัฒนาบุคลากรด้านวิชาการ

เพื่อให้ ส.ป.ก. สามารถสร้างงานวิชาการที่มีคุณภาพและเป็นประโยชน์ต่อองค์กรและเกษตรกร ส.ป.ก. ควรให้ความสำคัญในการพัฒนาทักษะด้านวิจัยและการทำงานวิชาการให้คนในองค์กร ให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ที่ขับเคลื่อนด้วยองค์ความรู้ที่ทันสมัย

I - Impact Contribution การส่งเสริมการนำผลงานวิชาการไปใช้ประโยชน์

นอกจากการสร้างงานวิจัยและงานวิชาการที่มีคุณภาพแล้ว ส่วนสำคัญที่จะสร้างผลกระทบต่อองค์กรและเกษตรกร คือใช้ประโยชน์จากงานวิจัย ขอให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีทั้งในองค์กรและองค์ความรู้สมัยใหม่ไปขยายผลสู่การพัฒนาในระดับพื้นที่ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

C - Collaboration การสร้างความร่วมมือด้านวิชาการ

เพื่อยกระดับงานด้านวิชาการและประโยชน์ต่อการทำงานวิชาการในระดับพื้นที่ ส.ป.ก. ต้องแสวงหาความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งองค์กรภาครัฐ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เพื่อสร้างเครือข่ายในการทำงานเชิงวิชาการ รวมถึงการสร้างความร่วมมือด้านวิชาการกับองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งได้รับเกียรติจากวิทยากร จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ สำนักงานการวิจัยและพัฒนาการเกษตร (องค์การมหาชน) มาให้ความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับระบบนิเวศวิจัยของประเทศ สถานการณ์ในปัจจุบันและทิศทางในอนาคต ของการพัฒนาภาคเกษตรกรรมและการบริหารจัดการทรัพยากรเกษตร รวมทั้งแนวทางการเข้าถึงแหล่งทุนวิจัย และการบริหารงานวิจัยอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการวิเคราะห์และจัดทำแผนพัฒนางานด้านวิชาการของ ส.ป.ก.

การจัดกิจกรรมครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-2 กรกฎาคม 2568 ณ โรงแรมรอยัล ซิตี้ แขวงบางบำหรุ เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร

ข่าว/ภาพ : อลงกรณ์ ซอนจำปา
 

ป้ายกำกับ
ล่าสุด