ข. การทำเหมืองในเขตปฏิรูปที่ดิน
4 ขั้นตอนการตรวจสอบพื้นที่ และเอกสารหลักฐาน
เมื่อรับคำขอแล้ว ส.ป.ก. จังหวัด จะดำเนินการ ดังนี้
1) ตรวจสอบคำขอ และความถูกต้องครบถ้วนของเอกสารหลักฐานประกอบคำขอ เมื่อเห็นว่า ถูกต้องครบถ้วน จะออกใบรับคำขอไว้เป็นหลักฐาน หากไม่ถูกต้อง หรือไม่ครบถ้วน จะแจ้งผู้ยื่นคำขอฯ ดำเนินการให้ถูกต้องครบถ้วนก่อน
2) ตรวจสอบคุณสมบัติผู้ยื่นคำขอ และตรวจสอบรายละเอียดสภาพแปลงที่ดินบริเวณที่ขอใช้ ว่าการทำเหมืองแร่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบเกษตรกรรมในที่ดินของเกษตรกรบริเวณนั้นและบริเวณใกล้เคียงหรือไม่
3) ตรวจสอบแผนฟื้นฟูสภาพพื้นที่ภายหลังการทำเหมืองในเขตปฏิรูปที่ดินให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรฐานการฟื้นฟูฯ ตามที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้กำหนดไว้ (คปก. ครั้งที่ 3/2545 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2545 ) และไม่ขัดแย้งกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ผู้ยื่นคำขอฯ ได้เสนอ และผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และไม่ขัดต่อมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมของ สผ.
4) เมื่อดำเนินการตาม ข้อ 1) – 3) เรียบร้อยแล้ว จะพิจารณาว่า อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะพิจารณาให้ใช้พื้นที่ได้หรือไม่ หากเห็นว่าอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะพิจารณาให้ความยินยอมได้ จะนำเสนอคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในการขอทำเหมืองและเห็นชอบแผนฟื้นฟูสภาพพื้นที่ภายหลังการทำเหมืองในเขตปฏิรูปที่ดินฯ
5) เมื่อคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด พิจารณาให้ความเห็นชอบตามข้อ 4 แล้ว ส.ป.ก. จังหวัด จะส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดพร้อมทำความเห็น เสนอ ส.ป.ก. พิจารณา