พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่2) พ.ศ. 2519 และ(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2532
มาตรา 30 วรรคห้า ให้ ส.ป.ก. มีอำนาจหน้าที่ในการจัดที่ดินให้แก่บุคคลใด ซึ่งหมายความรวมถึง บุคคลธรรมดา นิติบุคคล เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เพื่อใช้สำหรับกิจการอื่นที่เป็นการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เนื้อที่ไม่เกิน 50 ไร่ ทั้งนี้ ต้องเป็นกิจการตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศกำหนดด้วย โดยในการจัดที่ดินดังกล่าว คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) ได้ออกระเบียบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดที่ดิน
ตาม
ระเบียบ คปก. ว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการอนุญาตและการให้ผู้รับอนุญาตถือปฏิบัติในการใช้ที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์สำหรับกิจการที่เป็นการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่อง กับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2541 และกำหนดให้การจัดที่ดินอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด เว้นแต่กรณีที่ผู้ขอรับการจัดที่ดินเป็นคนต่างด้าว ให้อยู่ในอำนาจการพิจารณาของคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
1. ผู้มีสิทธิได้รับการจัดที่ดิน บุคคลผู้มีสิทธิได้รับการจัดที่ดินตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2519 และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2532 มาตรา 30 วรรคห้า ได้แก่
1. บุคคลธรรมดา หมายความรวมถึง เกษตรกรด้วย
2. นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายและมีวัตถุประสงค์ดำเนินกิจการตามประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนด
2. ประเภทกิจการ การจัดที่ดินเพื่อใช้สำหรับกิจการอื่นที่เป็นการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (มาตรา 30 วรรคห้า) ดำเนินการได้เฉพาะกิจการตามประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เท่านั้น และขณะนี้ได้มีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 2 ฉบับ (ฉบับ
1 /
2 ) กำหนดลักษณะของกิจการที่สามารถยื่นขออนุญาตรับการจัดที่ดินตามมาตรา 30 วรรคห้า ดังนี้
1. กิจการอื่นที่เป็นการสนับสนุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้หมายถึงกิจการ ดังนี้
1.1 กิจการทางวิชาการเกษตร การสาธิต การทดลอง เพื่อประโยชน์ทางการเกษตร
1.2 กิจการที่ส่งเสริม หรือประกันราคาพืชผลการเกษตร หรือลดต้นทุนการผลิตทางการเกษตร
1.3 กิจการที่เป็นข้อตกลงร่วมกับ ส.ป.ก. ในการดำเนินการผลิตและการจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตร
1.4 กิจการที่เป็นการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม และปัจจัยการผลิตตลอดจนการผลิตการจำหน่ายและการตลาดให้เกิดผลดียิ่งขึ้น
1.5 กิจการที่เป็นการบริการหรือเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของเกษตรกรในด้านเศรษฐกิจและสังคมในเขตดำเนินการปฏิรูปที่ดิน ซึ่งกิจการนั้นต้องอยู่ในพื้นที่ที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กำหนดให้เป็นพื้นที่เพื่อการนี้โดยเฉพาะ
2. กิจการที่เป็นการเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้หมายถึงกิจการแปรรูปผลิตผลเกษตรกรรม ซึ่งใช้ผลผลิตทางการเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินเป็นหลัก
3. กรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับประเภทกิจการอื่นที่เป็นการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้ คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พิจารณาวินิจฉัย
3. ขนาดของเนื้อที่ที่จัดให้ พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2519 และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2532 มาตรา 30 วรรคห้า กำหนดให้ คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) เป็นผู้พิจารณาจำนวนเนื้อที่เพื่อใช้สำหรับกิจการที่เป็นการสนับสนุน หรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดิน ตามที่เห็นสมควร ซึ่งต้องไม่เกิน 50 ไร่
4. ระยะเวลาการเช่า/การเข้าทำประโยชน์ ส.ป.ก. ได้
ประกาศกำหนดระยะเวลาการเช่า การเข้าทำประโยชน์ เพื่อประกอบกิจการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ดังนี้
1.กิจการที่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไร ให้กำหนดระยะเวลาเช่าไม่เกิน 3 ปี ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิ์ที่จะขอเช่าใหม่โดยผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด
2. กิจการที่ไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไรให้กำหนดระยะเวลาให้เข้า ทำประโยชน์ตามความเหมาะสมของแต่ละกิจการโดยผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด
5. ค่าตอบแทน ผู้รับอนุญาตต้องชำระค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ในที่ดินให้ ส.ป.ก. ซึ่งขณะนี้ คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ยังมิได้กำหนดอัตราค่าตอบแทน ดังนั้น ในระหว่างนี้ ส.ป.ก. จึงได้กำหนดให้เรียกเก็บค่าเช่าเฉพาะเรื่องการเช่าที่ดินโดยกำหนดในอัตราร้อยละ 3 ของราคาประเมินของกรมธนารักษ์ สำหรับแปลงที่ดินที่ให้เช่านั้น ทั้งนี้ หากที่ดินแปลงใดไม่มีราคาประเมินให้คำนวณจากราคาประเมินของกรมธนารักษ์สำหรับแปลงที่ดินที่ใกล้ที่สุด โดย ผู้รับอนุญาตจะต้องจัดทำข้อตกลงต่อท้ายสัญญากับ ส.ป.ก. ตามแบบที่ ส.ป.ก. กำหนด
(ส.ป.ก. 4-125)
6. หลักประกัน ผู้รับอนุญาตต้องวางหลักประกันสัญญาเพื่อใช้เป็นหลักประกันการชำระค่าเช่า ค่าตอบแทนที่ค้างชำระ หรือเพื่อเป็นหลักประกันความเสียหายภายหลังจากการเลิกสัญญา หรือค่าเสียหายอื่นใดที่คู่สัญญาไม่ปฏิบัติตามสัญญา จึงได้กำหนดอัตราหลักประกันสัญญา ดังนี้
1. หลักประกันของสัญญาเข้าทำประโยชน์ฯให้คิดในอัตรา 5% ของค่าตอบแทนที่ผู้รับอนุญาตต้องจ่ายให้แก่ ส.ป.ก.
2. หลักประกันของสัญญาเช่าที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ฯให้คิดในอัตรา 2 เท่าของค่าเช่าฯ
ประเภทของหลักทรัพย์ซึ่งนำมาเป็นหลักประกันสัญญา ได้แก่
- เงินสด
- หนังสือค้ำประกันธนาคารภายในประเทศ
- หลักประกันอื่นๆ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุฯ
7. ประกันภัย เฉพาะกรณีการเช่าหรือการเข้าทำประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์เท่านั้นที่ต้องทำประกันภัย ซึ่งคำว่า "อสังหาริมทรัพย์” หมายความถึง ที่ดินและอาคาร/สิ่งปลูกสร้างซึ่งติดอยู่กับที่ดิน โดยมีหลักเกณฑ์ในการทำสัญญาประกันภัย ดังนี้
1. ผู้ได้รับอนุญาต ต้องไปทำสัญญาประกันอัคคีภัย หรือวินาศภัย กับ ส่วนราชการหรือ รัฐวิสาหกิจเท่านั้น
2. ค่ากรมธรรม์ ต้องอยู่ในหลักเกณฑ์สูงสุดตามที่กรมการประกันภัยกำหนด
3. ผู้ได้รับอนุญาต ต้องเป็นผู้เสียเบี้ยประกันเองทั้งสิ้น
4. ต้องระบุให้ ส.ป.ก. เป็นผู้ได้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ แต่เพียงผู้เดียว
8. ขั้นตอนการยื่นคำขอรับจัดที่ดิน ผู้ที่ประสงค์จะขอรับการจัดที่ดินเพื่อใช้สำหรับกิจการที่เป็นการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้ยื่นคำขอ ที่ ส.ป.ก. จังหวัด ที่ที่ดินตั้งอยู่ ตาม แบบที่ ส.ป.ก. กำหนด
(ส.ป.ก. 4-109) พร้อมทั้งแนบหลักฐานและเอกสารประกอบคำขอ ดังต่อไปนี้
1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว
2. สำเนาทะเบียนบ้าน
3. กรณีผู้ขออนุญาตเป็นนิติบุคคลให้ยื่นสำเนาหนังสือรับรองของนายทะเบียน หุ้นส่วนบริษัทแสดงการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ซึ่งออกให้ไม่เกินหกเดือน พร้อมทั้งวัตถุประสงค์ของนิติบุคคล
4. แผนงานและโครงการ ประกอบด้วย
(ก) ประเภทของกิจการ
(ข) ประเภทของสิทธิที่ขอรับอนุญาต
(ค) สถานที่ประกอบกิจการและจำนวนเนื้อที่ที่ต้องการขออนุญาต
(ง) ทุนที่ใช้ดำเนินงานของโครงการรวมทั้งแผนการเพิ่มทุนในอนาคต
(จ) ลักษณะของการดำเนินงานของโครงการ โดยระบุลักษณะการใช้ที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ ขั้นตอนและวิธีการดำเนินงาน แนวทางการบริหารและการจัดการโครงการ
(ฉ) ผลตอบแทนโครงการ ระยะเวลาคืนทุนของโครงการและเครื่องชี้วัดอื่น ๆ ที่แสดงโอกาสความสัมฤทธิ์ผลของการประกอบกิจการ
(ช) ประโยชน์ที่คาดว่าเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และ ส.ป.ก. จะได้รับ
5. แผนผังแบบแปลนการก่อสร้าง
6. สำเนาใบอนุญาตให้ประกอบการ
7. หนังสือยินยอมหรือหนังสือสละสิทธิในที่ดิน ในกรณีที่ ส.ป.ก. ได้จัดที่ดินแล้ว
เมื่อได้รับคำขอแล้ว ส.ป.ก.จังหวัด จะออกใบรับให้ผู้ขอไว้เป็นหลักฐานพร้อมแจ้งให้ทราบว่าเอกสารครบหรือไม่ หากไม่ครบให้ระบุด้วยว่าขาดเอกสารอะไรบ้าง พร้อมกำหนดระยะเวลาให้ยื่นเอกสาร
9. ขั้นตอนการตรวจสอบพื้นที่ และเอกสารหลักฐาน เมื่อได้รับคำขอแล้ว ส.ป.ก.จังหวัด จะดำเนินการ ดังนี้
1) ตรวจสอบคำขอ ความถูกต้องครบถ้วนของเอกสารหลักฐานประกอบคำขอ คุณสมบัติของผู้ยื่นคำขอ พร้อมทั้งตรวจสอบรายละเอียดแปลงที่ดิน และจำนวนเนื้อที่ที่ขอใช้ รวมทั้งเหตุผลและความจำเป็นในการขอใช้ว่า มีความเหมาะสมกับกิจการที่ขอใช้หรือไม่ เพียงใด
2) ในกรณีที่จะให้ผู้ขอรับอนุญาตชี้แจงเพิ่มเติมหรือให้ส่งเอกสารเพิ่มเติม ส.ป.ก. จังหวัด จะมีหนังสือแจ้งให้ผู้ขอรับอนุญาตดำเนินการภายในเวลาที่เห็นสมควร และหาก ผู้ขอรับอนุญาตไม่ปฏิบัติตาม ส.ป.ก.จังหวัด จะยกคำขอรับอนุญาตนั้นเสีย ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิผู้ขออนุญาตที่จะยื่นคำขอรับอนุญาตใหม่
3) ในกรณีจำเป็นต้องไปตรวจสถานที่ที่ขอประกอบกิจการ ส.ป.ก.จังหวัด จะแจ้งให้ ผู้ขอรับอนุญาตเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ ให้ปฏิรูปที่ดินจังหวัดให้ความเห็นไว้ในคำขออนุญาต
10. ขั้นตอนการพิจารณาคำขอ 1) เมื่อตรวจสอบความถูกต้องของคำขอ และเอกสารหลักฐานครบถ้วนแล้ว ส.ป.ก.จังหวัด จะรวบรวมคำขอและพิจารณาความเห็นเสนอคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด (คปจ.) พิจารณาอนุญาตตามประเภทกิจการ และจำนวนเนื้อที่ที่อนุญาต และแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ขอรับอนุญาตทราบภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ คปจ. มีมติ
ในกรณีผู้ขอรับอนุญาตเป็นคนต่างด้าว ให้ ส.ป.ก.จังหวัดรวบรวมเอกสารหลักฐานเสนอ คปจ. พิจารณาให้ความเห็นชอบ หากได้รับความเห็นชอบแล้ว ส.ป.ก. จังหวัด จะรวบรวมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวและรายงานการประชุม คปจ. ส่งให้ ส.ป.ก. พิจารณา เพื่อนำเสนอคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) เพื่อพิจารณาอนุญาตต่อไป (เฉพาะการเช่าหรือเข้าทำประโยชน์)
2) กรณีที่ คปจ. หรือ คปก. (กรณีคนต่างด้าว) แล้วแต่กรณี มีมติอนุญาต ส.ป.ก.จังหวัด จะแจ้งให้ผู้ขอรับอนุญาตเข้าทำสัญญากับ ส.ป.ก. ณ ส.ป.ก.จังหวัด ภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ผู้ขอรับอนุญาตได้รับหนังสือ
( ส.ป.ก. 4-110)
3) เมื่อครบกำหนดระยะเวลาที่กำหนด ผู้รับอนุญาตมิได้มาดำเนินการเข้าทำสัญญา ตามข้อ 2) ส.ป.ก.จังหวัด จะนำเสนอ คปจ. เพื่อเพิกถอนการอนุญาต และจะแจ้งมติการเพิกถอนการอนุญาตดังกล่าว พร้อมแจ้งสิทธิการอุทธรณ์ให้ผู้ขอรับอนุญาตทราบ
( ส.ป.ก. 4-111)
4) กรณีคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด (คปจ.) มีมติไม่อนุญาต ส.ป.ก.จังหวัด จะมีหนังสือแจ้งให้ผู้ขอรับอนุญาตทราบภายใน 15 วันนับแต่วันที่มีมติ และแจ้งสิทธิให้อุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งมติ
(ส.ป.ก. 4-112) โดยยื่นต่อ ส.ป.ก.จังหวัด ที่ที่ดินตั้งอยู่
( ส.ป.ก. 4-113) โดย ส.ป.ก. จังหวัด จะรวบรวมเอกสารหลักฐานเสนอคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) พิจารณาวินิจฉัย และมติของ คปก. ให้ถือเป็นที่สุด และหากไม่เห็นด้วยกับผลการอุทธรณ์ ผู้ขอรับอนุญาต สามารถใช้สิทธิทางศาลปกครองได้
11. การจัดทำสัญญา เมื่อผู้รับอนุญาตได้รับการจัดที่ดิน และได้รับหนังสือแจ้งให้เข้าทำสัญญากับ ส.ป.ก. แล้ว ผู้รับอนุญาตจะต้องเข้าทำสัญญากับ ส.ป.ก. ภายในกำหนดระยะเวลา 30 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งการอนุญาต โดยเข้าทำสัญญากับ ส.ป.ก. ณ ส.ป.ก.จังหวัด ที่ที่ดินตั้งอยู่ ตามแบบสัญญาที่ ส.ป.ก. กำหนด
12. แบบสัญญา
ระเบียบ คปก. ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการอนุญาตและการให้ผู้รับอนุญาตถือปฏิบัติในการใช้ที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์สำหรับกิจการที่เป็นการสนับสนุนหรือ
เกี่ยวเนื่อง กับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2541 ได้กำหนดให้ผู้รับอนุญาตรับเงื่อนไขในรูปแบบของสัญญา โดยให้ ส.ป.ก. เป็นผู้กำหนดแบบของสัญญาซึ่ง ส.ป.ก. ได้กำหนดแบบสัญญาเฉพาะการเช่าและการเข้าทำประโยชน์ ดังนี้
1. การเช่า ใช้
แบบสัญญาเช่าที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
(ส.ป.ก. 4-119)
2. การเข้าทำประโยชน์ ใช้
แบบสัญญาเข้าทำประโยชน์ในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
(ส.ป.ก. 4-118)