กุมภาพันธ์ 13, 2568 | ภาพข่าว
วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดลำพูน จัดกิจกรรม “งดเผา เอาบุญ” รณรงค์หยุดการเผาในเขตปฏิรูปที่ดิน ณ ที่ว่าการอำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน โดยนายวิวัฒน์ อินทร์ไทยวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน มอบหมายให้นายประกอบ ยอดยา นายอำเภอแม่ทา เป็นประธานในพิธีเปิดงานดังกล่าว พร้อมทั้งมอบโฉนดที่ดินเพื่อการเกษตร แก่เกษตรกร อำเภอแม่ทา จำนวน 40 ราย /การปฏิญาณตน งดเผาในพื้นที่เกษตรกรรม และการจัดนิทรรศการรณรงค์หยุดเผา กำจัดวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรด้วยวิธีธรรมชาติของสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดลำพูน สำนักงานเกษตรอำเภอแม่ทา สำนักงานปศุสัตว์อำเภอแม่ทา และศูนย์รณรงค์งดการเผาในเขตปฏิรูปที่ดิน นางจิดาณี วงปันดิ บ้านทาทุ่งยาว ตำบลทาสบเส้า อำเภอแม่ทา โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและเกษตรกรเข้าร่วมงานดังกล่าว
นางปรารถนา ชัยญานะ ปฏิรูปที่ดินจังหวัดลำพูน กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้ ว่า สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. ได้รับนโยบายสำคัญเรื่องการให้รณรงค์ ส่งเสริม และใช้มาตรการหยุดการเผาเศษวัสดุทางการเกษตรในพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศในระดับประเทศและโลก โดย ส.ป.ก. ได้ขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว ทั้งทางด้านกฎหมาย คือได้นำประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง มาตรการบริหารการจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหา ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) รวมทั้งมติคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ครั้งที่ 8/2566 เรื่อง กำหนดหน้าที่เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน ห้ามกำจัดวัสดุทางการเกษตรโดยการเผา มาดำเนินการและบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ ด้านการส่งเสริมและพัฒนา ได้มีการให้ความรู้เรื่องการนำเศษวัสดุทางเกษตรมาใช้ประโยชน์และสร้างรายได้ ส่งเสริมการทำเกษตรกรรมยั่งยืนที่สอดคล้องตามภูมินิเวศ สร้างคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรในระบบ GAP เกษตรอินทรีย์ และมาตรฐานอื่นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับความต้องการของตลาด รวมทั้งเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศกับภาคเอกชนในการตรวจสอบย้อนกลับกระบวนการผลิตเพื่อควบคลุมการเผาและสร้างแรงจูงใจด้านการค้าต่อเกษตรกร เป็นต้น
กิจกรรม“หยุดเผา เอาบุญ” ภายใต้โครงการรณรงค์หยุดการเผาในเขตปฏิรูปที่ดิน จึงเป็น อีกงานหนึ่ง ที่ส.ป.ก. ได้ร่วมกับเครือข่ายเกษตรกร เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน ได้ร่วมกันทำความดี สร้างเป็นบารมีต่อตนเอง ผู้อื่น และสรรพสิ่งที่มีชีวิตในระบบเกษตรกรรม รวมทั้งเป็นการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้ ให้หยุดการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม รวมทั้งขยายผลองค์ความรู้การบริหารจัดการทรัพยากรในภาคการเกษตรให้เกิดการใช้ประโยชน์และมีประสิทธิภาพตามแนวทางเกษตรกรรมยั่งยืนต่อไป