image banner

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน นำหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดลำพูนลงพื้นที่อำเภอทุ่งหัวช้างและบ้านโฮ่ง ในการประชาสัมพันธ์ และทำความเข้าใจนโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) แก่ผู้นำชุมชน ทั้ง8อำเภอของจังหวัดลำพูน

มกราคม 24, 2568 | ภาพข่าว

ผวจ.ลำพูน มอบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติราชการในพื้นที่ อ. ทุ่งหัวช้าง เน้นย้ำ อปท. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทำความเข้าใจประชาชนในพื้นที่ ลดจุดความร้อน และการบังคับใช้กฎหมายควบคุมการเผาพื้นที่โล่งและเขตป่า พร้อมประชาสัมพันธ์เสียงตามสายและสื่อประชาสัมพันธ์อื่นๆ 

วันที่ 24 มกราคม 2568  นางปรารถนา ชัยญานะ ปฏิรูปที่ดินจังหวัดลำพูน ร่วมลงพื้นที่กับหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดลำพูน ซึ่งนำโดยนายวิวัฒน์ อินทร์ไทยวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน และนายโยธิน ประสงค์ความดี รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน เพื่อ ลงพื้นที่เพื่อประชาสัมพันธ์ ชี้แจง และทำความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายการปฏิบัติงาน การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายควบคุมการเผาในที่โล่ง และการลักลอบเผาในพื้นที่ป่าโดยมีนายอำเภอทุ่งหัวช้าง ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

อำเภอทุ่งหัวช้าง เป็นอำเภอที่อยู่ทางทิศใต้ของจังหวัดลำพูน มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียง คือ ทิศเหนือติดต่อกับอำเภอแม่ทา ทิศตะวันออกติดต่อกับอำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง ทิศใต้ติดต่อกับอำเภอเถิน จังหวัดลำปางและอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ทิศตะวันตกติดต่อกับอำเภอลี้ มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 950 ตร.กม. หรือ 593,750 ไร่ มีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวนาปี ลำไย มันฝรั่ง ถั่วเหลืองฝักสด ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

จากนั้น เวลา 13.30 น. ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนและคณะ เดินทางไปที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอบ้านโฮ่ง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน โดยมี นายอำเภอบ้านโฮ่ง หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

นายจรัล มณีจันสุข นายอำเภอบ้านโฮ่ง กล่าวว่า อำเภอบ้านโฮ่ง เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดลำพูนตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ ห่างจากตัวเมืองจังหวัดลำพูน ประมาณ 40 กิโลเมตร ตามถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 106 สายลำพูน - ลี้ พื้นที่อำเภอบ้านโฮ่ง มีพื้นที่ทั้งหมด 597 ตารางกิโลเมตร หรือ 373,125 ไร่  สำหรับ สถานการณ์หมอกควันไฟป่าอำเภอบ้านโฮ่ง ตั้งแต่ 1 มกราคม - ปัจจุบัน อำเภอบ้านโฮ่งพบจุดความร้อนจำนวน 2 จุด ประกอบด้วย บริเวณพื้นที่คาบเกี่ยวระหว่างป่าสงวนกับป่าชุมชน บ้านปาาป๋วย หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านโฮ่ง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน บริเวณพื้นพื้นที่ป่าสงวนบ้านแม่หาด หมู่ที่ 8 ตำบลป่าพลู อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ทั้งนี้ได้บังคับใช้กฎหมายตรวจยึดพื้นที่แผ้วถางป่าเพื่อเผาถ่านและอุปกรณ์เลื่อนโซ่ยนต์ ณ ป่าภายในหมู่บ้านห้วยปางค่า หมู่ที่ 16 ตำบลบ้านโฮ่ง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ได้ดำเนินการออกหนังสือแจ้งเตือน ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 จำนวน 4 ราย

ในส่วนของส.ป.ก.ลำพูน ปฏิรูปที่ดินจังหวัดลำพูนได้แจ้งในที่ประชุมถึง การออกประกาศสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดลำพูน เรื่องกำหนดหน้าที่ให้เกษตรกรปฏิบัติเกี่ยวกับการเผาที่เกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินอาศัยอำนาจตามข้อ7แห่งระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยการให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรผู้ได้รับการจัดที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน (ฉบับที่4)พ.ศ. 2566 คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้มีมติในคราวประชุมครั้ง8/2566 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 กำหนดหน้าที่ให้เกษตรกรที่ได้รับการจัดที่ดินห้ามกำจัดวัสดุทางการเกษตร ฟางข้าว ตอซัง ข้าวโพด หญ้า ขยะมูลฝอยหรือสิ่งอันไม่พึงประสงค์ใดใด โดยการเผาอันก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพดินหรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่สิ่งก่อสร้างในโครงการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือการทำประโยชน์ในที่ดินของเกษตรกรอื่นหรือสภาพแวดล้อม

ทั้งนี้หากเกษตรกรรายใดฝ่าฝืนจะมีการดำเนินการดังต่อไปนี้

1. ปฏิรูปที่ดินจังหวัดจะมีหนังสือเตือนให้เกษตรกรผู้ฝ่าฝืนละเว้นการกระทำหรือปฏิบัติให้ ถูกต้องหรือทำให้ที่ดินกลับสู่สภาพเดิม ภายในระยะเวลาที่กำหนดตามข้อ 8 ของระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยการให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2566

2. ถ้าเกษตรกรผู้ฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามคำเตือน โดยไม่มีเหตุอันควรจะดำเนินการพิจารณาและมีมติให้สิ้นสิทธิการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่ได้รับจัดตามข้อ 11 ของระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยการให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ผู้ได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2566

ป้ายกำกับ
ล่าสุด