การแสดงผลตัวอักษร
1764 ศูนย์บริการข้อมูล
TH EN
image banner

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ เสด็จพระราชดำเนิน งานเกี่ยวข้าวแปลงนาสาธิตฯ

พฤศจิกายน 22, 2567 | กิจกรรม ส.ป.ก.

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ เสด็จพระราชดำเนิน งานเกี่ยวข้าวแปลงนาสาธิตฯ

     สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ร่วมเฝ้ารับเสด็จ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ เสด็จพระราชดำเนิน ในงานเกี่ยวข้าวแปลงนาสาธิตเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธี มหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ณ แปลงนากลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก ต.หนองนาคำ อ.เมือง จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567

     นายวัฒนา มังธิสาร รองเลขาธิการ ส.ป.ก. ได้ถวายรายงานเกี่ยวกับ เครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวแบบนาแห้ง พัฒนาโดย ส.ป.ก. พร้อมด้วย นางธารทิพย์ บำรุงรส ปฏิรูปที่ดินจังหวัดอุดรธานี นายสิทธิพันธ์ บานเย็น วิศวกรการเกษตรชำนาญการพิเศษ (ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนาเครื่องจักรกลการเกษตร) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมรับเสด็จ

     ในปี พ.ศ. 2558 – 2559 ส.ป.ก. ได้ทำการวิจัยและพัฒนาเครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวนาแห้ง ชนิดต่อพ่วงรถไถนาเดินตาม ขนาด 4 แถวปลูก และดำเนินการทดสอบใช้เครื่องต้นแบบในพื้นที่นำร่องเขตปฏิรูปที่ดินจำนวน 19 แห่ง คลอบคลุมพื้นที่ 15 จังหวัด

     ในปี พ.ศ. 2560 ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ภายใต้โครงการพัฒนาเครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าว รุ่น ALRO1 แบบมีส่วนร่วม เป็นการพัฒนาเครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวนาแห้งชนิดต่อพ่วงรถไถนาเดินตาม ขนาด 4 แถวปลูก และเครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวนาแห้งชนิดต่อพ่วงฟาร์มแทรกเตอร์ ขนาด 6 แถวปลูก

     ซึ่งมีกลุ่มเกษตรกรเข้าร่วมในกระบวนการวิจัย 20 ชุมชน คลอบคลุม 20 จังหวัดในเขตปฏิรูปที่ดิน โดยผลงานวิจัยดังกล่าวสามารถใช้เป็นเครื่องมือปลูกข้าวที่มีประสิทธิภาพในการลดการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวของเกษตรกรได้เป็นอย่างดี เมื่อเทียบกับการปลูกข้าวแบบการหว่าน ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวลดลง ร้อยละ 37.5 – 80 (จาก 8 – 25 กิโลกรัมต่อไร่) เป็น 2 – 5 กิโลกรัมต่อไร่ เป็นผลให้สามารถช่วยลดต้นทุนการทำนาของเกษตรกรอย่างเห็นได้ชัด ลดขั้นตอนการทำนา ช่วยให้เกษตรกรสามารถทำงานได้รวดเร็ว ใกล้เคียงกับการทำนาหว่าน

     ในปี พ.ศ. 2567 ได้รับสนับสนุนทุนวิจัยจาก สวก. ด้านการนำผลการวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ (Research Utilization: RU) ในการขยายผลเครื่องหยอดเมล็กดพันธุ์ข้าวชนิดต่อพ่วงฟาร์มแทรกเตอร์ ขนาด 6 แถวปลูก แก่กลุ่มเกษตรกร 17 แห่ง คลอบคลุม 10 จังหวัดในเขตปฏิรูปที่ดิน ในการขยายผลเป็นในรูปแบบการถ่ายทอดทักษะพื้นฐานงานช่าง และฝึกอบรมให้กลุ่มเกษตรกรสร้างประกอบเครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวต้นแบบใช้งานด้วยตนเอง ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการโครงการ โดยสามารถขยายผลเครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวไปแล้ว 11 แห่ง จากกลุ่มเป้าหมาย 17 แห่ง

จุดเด่นของเครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าว

     - เป็นเครื่องหยอดฯ ที่มีกลไกการทำงานไม่ซับซ้อน สร้างขึ้นจากวัสดุที่หาซื้อได้โดยทั่วไปและสร้างด้วยเทคโนโลยีพื้นฐานช่าง เกษตรกรสามารถเรียนรู้วิธีการการสร้างขึ้นมาใช้งานได้ด้วยตัวเอง

     - เครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าว ขนาด 6 แถวปลูก มีต้นทุนการสร้างในโครงการวิจัยประมาณ 14,900 บาท ซึ่งมีราคาที่ถูกกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องหยอดฯ ขนาดเดียวกันที่จำหน่ายในท้องตลาดที่มีราคาประมาณ 40,000 บาทต่อเครื่อง

     - การใช้เครื่องหยอดฯ สามารถลดการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวเมื่อเทียบกับการปลูกข้าวแบบการหว่าน ร้อยละ 37.5 – 80 (จาก 8 -25 กิโลกรัมต่อไร่ เป็น 2- 5 กิโลกรัมต่อไร่) อัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ 2 – 5 เมล็ดต่อกอ ผลการงอกของต้นข้าว เป็นแถวเป็นแนวชัดเจน

     - การใช้เครื่องหยอดฯ ลดขั้นตอนการทำนา ช่วยให้เกษตรกรสามารถทำงานได้รวดเร็ว ใกล้เคียงกับการทำนาหว่าน

     นอกจากนี้ ส.ป.ก. ยังได้ออกบูธนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร เครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวแบบนาแห้ง รุ่น ALRO1 ที่สร้างขึ้นจากวัสดุที่หาซื้อได้โดยทั่วไปและสร้างด้วยเทคโนโลยีพื้นฐานช่างเกษตรกรสามารถเรียนรู้วิธีการสร้างขึ้นมาใช้งานได้ด้วยตัวเองอีกด้วย

ข่าว : ภาคีนัย กลิ่นกุล

ภาพ : กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ป้ายกำกับ
ล่าสุด