วันที่ 5 มกราคม 2566 ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้เข้ารับฟังรายงานสรุปผลการศึกษา “แนวทางการพัฒนาพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินตำบลเกาะพยาม อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง” หรือ “เกาะพยาม Sand Box” จากคณะทำงานศึกษารูปแบบและแนวทางการพัฒนาพื้นที่เกาะพยามอย่างยั่งยืน ภายใต้คณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาการใช้ที่ดินและการทับซ้อนแนวเขตที่ดินในโครงการป่าเกาะพยาม อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง ซึ่ง ส.ป.ก. แต่งตั้งขึ้น ณ ห้องประชุมจาริณ อัตถโยธิน
ดร.อาทิตยา พองพรหม ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน ประธานคณะทำงานศึกษารูปแบบและแนวทางการพัฒนาพื้นที่เกาะพยามอย่างยั่งยืน ได้นำเสนอถึงสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจนส่งให้พื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินบางแห่งเริ่มกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะเกาะพยาม อ.เมืองระนอง จ.ระนอง ซึ่งหากปล่อยให้เศรษฐกิจและสังคมของเกาะพยามดำเนินต่อไปเอง จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ปฏิรูปที่ดินบนเกาะจนไม่สามารถแก้ไขได้ คณะทำงานจึงมุ่งเน้นไปที่การศึกษาเพื่อหาแนวทางการพัฒนาพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืนบนเจตนารมณ์ของการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และสอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมปัจจุบัน ตลอดจนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมถึงแนวคิด BCG Model จนนำมาสู่ “แนวทางการพัฒนาพื้นที่เกาะพยามอย่างยั่งยืน” หรือ “เกาะพยาม Sand Box” ที่มุ่งเน้นการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร และอนุรักษ์ฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่านกลไกการมีส่วนร่วมของเกษตรกร ชุมชน และท้องถิ่น ภายใต้การทำ Zoning การใช้ที่ดินตามศักยภาพทางเศรษฐกิจภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวว่า แนวคิด “เกาะพยาม Sand Box” นี้เป็นรูปแบบการพัฒนาใหม่ที่ก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่งของ ส.ป.ก. ซึ่งต่อจากนี้จะได้นำเสนอคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) ให้ความเห็นชอบแนวทางเพื่อนำไปขับเคลื่อนต่อไป ซึ่งคาดว่าจะสามารถเห็นผลสัมฤทธิ์ได้ภายใน 2-3 ปี หลังได้รับความเห็นชอบ และเมื่อประสบความสำเร็จแล้ว “เกาะพยาม Sand Box” จะเป็นต้นแบบหรือโมเดลในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวในเขตปฏิรูปที่ดินที่อื่นต่อไป
“กระแสการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเป็นกระแสที่แรงการไปขวางก็จะมีแต่พัง ส.ป.ก. จึงจำเป็นต้องแสวงหาแนวทางใหม่ ๆ อยู่เสมอเพื่อปรับตัวให้อยู่กับกระแสนั้นให้ได้โดยยังคงยึดมั่นรักษาเจตนารมณ์ และวัตถุประสงค์ของการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมไว้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินให้อยู่ได้ อยู่ดี มีความสุขตลอดไป” เลขาธิการกล่าวทิ้งท้าย