การแสดงผลตัวอักษร
1764 ศูนย์บริการข้อมูล
TH EN
image banner

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

ส.ป.ก. จับมือกรมส่งเสริมสหกรณ์ รับการตรวจประเมินผลงานรางวัลเลิศรัฐ 2565 “ตลาดนำการผลิต พริกพลิกชีวิต พิชิตความจน คนท่าวังผา”

มิถุนายน 6, 2565 | กิจกรรม ส.ป.ก.

ส.ป.ก. จับมือกรมส่งเสริมสหกรณ์ รับการตรวจประเมินผลงานรางวัลเลิศรัฐ 2565 “ตลาดนำการผลิต พริกพลิกชีวิต พิชิตความจน คนท่าวังผา”

     สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ ส่งสหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินท่าวังผา จำกัด อ.ท่าวังผา จ.น่าน เข้ารับการตรวจประเมินผลรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทร่วมใจแก้จน ประจำปี พ.ศ.2565 ในชื่อผลงาน “ตลาดนำการผลิต พริกพลิกชีวิต พิชิตความจน คนท่าวังผา” โดยมีนายวุฒิพงศ์ เนียมหอม รองเลขาธิการ ส.ป.ก. และนายอัชฌา สุวรรณนิตย์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายกฤชเพชร เพชระบูรณิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน นายกฤษณะ ดีปาละ ปฏิรูปที่ดินจังหวัดน่าน พร้อมเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับคณะผู้ตรวจประเมินจากสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ณ โรงคัดแยกผักและผลไม้สหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินท่าวังผา จำกัด และแปลงเกษตรเชิงท่องเที่ยววัดศรีมงคล (วัดบ้านก๋ง) อ.ท่าวังผา จ.น่าน

     สหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินท่าวังผา จำกัด ต.ยม อ.ท่าวังผา จ.น่าน จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2532 มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการรวมกลุ่มและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินตามอุดมการณ์สหกรณ์ที่ว่า “การช่วยตนเองและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จะนำไปสู่การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุข ในสังคม” โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดน่าน (ส.ป.ก.น่าน) ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งและพัฒนาสหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินท่าวังผา จำกัด ในการส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรในชุมชน ร่วมแก้ไขปัญหาความยากจน และสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์ซึ่งดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และสถาบันการศึกษาในลักษณะบูรณาการตามภารกิจของแต่ละภาคส่วน จนทำให้สหกรณ์เล็ก ๆ ในวันนั้น พัฒนาสู่สหกรณ์ขนาดใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในวันนี้ด้วยจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้น จากเมื่อครั้งก่อตั้ง 67 คน เป็น 1,400 คน มีทุนเรือนหุ้นจาก 6,700 บาท เพิ่มเป็น 5,671,390 บาท และมูลค่าธุรกิจของสหกรณ์กว่า 62 ล้านบาท รวมทั้งรางวัลความสำเร็จต่าง ๆ เช่น รางวัลสหกรณ์ที่มีผลงานดีเด่นระดับจังหวัด ประเภทสหกรณ์การเกษตร ประจำปี 2557/2558 รางวัลสหกรณ์ดีเด่นในเขตปฏิรูปที่ดิน ประจำปี พ.ศ. 2562 เป็นต้น

     อย่างไรก็ตาม กว่าที่สหกรณ์แห่งนี้จะประสบความสำเร็จจนเป็นที่น่าภาคภูมิใจของสมาชิกสหกรณ์และชุมชนนั้น สหกรณ์ได้ผ่านเรื่องราวและปัญหาต่าง ๆ มาพอสมควรเช่นเดียวกับสหกรณ์ทั่วไป โดยเฉพาะวิกฤตราคาผลผลิตทางการเกษตร (พริก) ตกต่ำอย่างรุนแรงในปี พ.ศ. 2553 ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาความยากจนและหนี้สินของเกษตรกรสมาชิก และถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ต้องหันมาให้ความสำคัญในเรื่องการจัดการผลผลิตและการตลาดอย่างจริงจัง

     ในการแก้ไขปัญหาความยากจนและการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพสหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินท่าวังผา จำกัด นั้น ส.ป.ก.น่าน ได้มีการบูรณาการกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาในลักษณะหุ้นส่วนความร่วมมือ (Partnership) สำหรับหน่วยงานภาครัฐจะให้การส่งเสริมและสนับสนุนองค์ความรู้ผ่านการฝึกอบรม ศึกษาดูงาน ปัจจัยการผลิต เครื่องมือเครื่องจักร อาคารและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ รวมทั้งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งได้แก่ สำนักงานเกษตรจังหวัดน่าน สำนักงานสหกรณ์จังหวัดน่าน สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์น่าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ธ.ก.ส. เป็นต้น ขณะที่ภาคเอกชนได้เข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาศักยภาพสหกรณ์ด้วยการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ เครื่องจักร (เครื่องบดพริก)และรับซื้อผลผลิตในราคาที่ยุติธรรม รวมทั้งร่วมติดตามและให้คำแนะนำด้านการผลิตการแปรรูปสินค้าและการพัฒนาช่องทางด้านการตลาดที่ชัดเจนโดยการทำสัญญาซื้อขายผลผลิตล่วงหน้า เช่น บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยอะกริฟู๊ด จำกัด บริษัท ชิตาออร์แกนิคฟู้ด จำกัด บริษัท เอส แอนด์ เจ โปรดักต์ จำกัด เป็นต้น ขณะเดียวกันยังได้มีการบูรณาการร่วมกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ในการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยการแปรรูป และเป็นผู้ผลิตสินค้าให้กับทางสหกรณ์ในลักษณะ Original Equipment Manufacturer (OEM) เนื่องจากความพร้อมเรื่องเทคโนโลยีและสถานที่ผลิต รวมทั้งมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูปสินค้าเพื่อให้สหกรณ์สามารถดำเนินการผลิตได้ด้วยตนเองเมื่อมีความพร้อม เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาวิทยาเขตน่าน เป็นต้น นอกจากนั้นยังได้มีการบูรณาการร่วมกันระหว่างสหกรณ์ในพื้นที่เพื่อช่วยเหลือกันและกันโดยการรับซื้อผลผลิต การกู้ยืมเงิน และการเป็นพี่เลี้ยงในการบริหารจัดการสหกรณ์และการดำเนินธุรกิจสหกรณ์ในช่วงเริ่มต้นและในช่วงที่เกิดปัญหาด้วย

     ในด้านของการต่อยอดผลิตภัณฑ์ สหกรณ์แห่งนี้ยังให้ความสำคัญกับการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าและความหลากหลายให้กับสินค้า เช่น การแปรรูปพริกเป็นพริกแห้ง พริกป่น ซอสพริก น้ำพริกเผา สารกำจัดแมลงศัตรูพืชจากพริก ฟักทองผง น้ำมัลเบอร์รี่พร้อมดื่ม เป็นต้น ซึ่งการแปรรูปนี้นอกจากจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าแล้วยังมีส่วนช่วยจัดการกับปัญหาผลผลิตตกเกรด (ฟักทอง) และผลผลิตเสียหายระหว่างการแปรรูป (พริกแห้ง) รวมทั้งยังเป็นการดำเนินการตามแนวทาง Zero Waste เพื่อลดปริมาณขยะและของเสียระหว่างกระบวนการผลิตอีกด้วย นอกจากนั้นสหกรณ์ยังให้ ความสำคัญกับการสร้างตราสินค้าเพื่อให้เป็นที่รู้จักและแพร่หลายโดยมีการจัดทำตราสินค้า “ผักปลอดภัยลุ่มน้ำย่าง” ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP อีกด้วย

ข่าว : ธิดารัตน์ ซุ้ยขาว

ภาพ : ภาคีนัย กลิ่นกุล

ป้ายกำกับ
ล่าสุด