การแสดงผลตัวอักษร
1764 ศูนย์บริการข้อมูล
TH EN
image banner

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

ส.ป.ก. เฝ้าฯ รับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการตามพระราชดำริในพื้นที่จังหวัดน่าน

สิงหาคม 13, 2560 | กิจกรรม ส.ป.ก.

       เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2560 นายฉลอง มณีโชติ รองเลขาธิการ ส.ป.ก. และนางสุภาภรณ์ อมราภิบาล ผู้อำนวยการกองประสานงานโครงการพระราชดำริและโครงการพิเศษ (ก.ป.ร.) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดน่าน และเจ้าหน้าที่จากส่วนกลาง เฝ้าฯ รับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการตามพระราชดำริในพื้นที่จังหวัดน่าน
 
       เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรแปลงเกษตรของนายเหรียญ คำแคว่น ณ บ้านห่างทางหลวง ตำบลภูฟ้า อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน เกษตรกรต้นแบบที่เข้าร่วมโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ ซึ่งศูนย์ภูฟ้าพัฒนา ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เข้ามาให้คำแนะนำการทำเกษตรแบบผสมผสาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้สนับสนุนองค์ความรู้ และกล้าไม้ เมื่อปี 2540 โดยปรับเปลี่ยนความคิดการทำเกษตรจากเดิมปลูกพืชเชิงเดี่ยว ทำไร่เลื่อนลอย ทำให้ดินเสื่อมสภาพ ผลผลิตลดลง และเก็บของป่าขาย มาเป็นนำกล้าไม้ป่ามาปลูกในแปลงเกษตรของตนเอง ตามแนวคิดย้ายป่ามาอยู่ใกล้บ้าน และออกแบบพื้นที่แปลงเกษตร จำนวน 15 ไร่ ปลูกพืชเศรษฐกิจ ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น เพื่อเก็บกิน และจำหน่าย เช่น ปลูกหม่อนผลสดที่เริ่มปลูกเมื่อปี 2558 จำนวน 1 ไร่ คาดว่าจะเก็บผลผลิตได้ในปีนี้ 100 ถึง 200 กิโลกรัม และจะมีรายได้จากการจำหน่าย 3,500 ถึง 4,200 บาท มีการเลี้ยงไก่พื้นเมือง เป็ดเทศ สุกร เพื่อเป็นอาหารในครัวเรือน ทำปุ๋ยหมักไว้ใช้เอง จากผลไม้ที่เหลือจากการบริโภค เศษวัชพืช เศษใบไม้ และทำปุ๋ยคอกจากมูลสัตว์ที่เลี้ยง โดยไม่ต้องซื้อปุ๋ยจากที่อื่น มีการเลี้ยงปลาพลวงหิน ซึ่งเป็นปลาที่มีราคาสูง ประมาณกิโลกรัมละ 300 บาท และร่วมมือกับกรมประมงในการเพาะขยายพันธุ์ โดยส่วนหนึ่งจะนำไปปล่อยคืนในแหล่งน้ำธรรมชาติ
 
        ทั้งยังมีพื้นที่แปลงป่าต้นน้ำ จึงเลียนแบบธรรมชาติ นำกล้วยป่ามาปลูกและไม้ป่ามาปลูกเพิ่ม จนมีความอุดมสมบูรณ์ แล้วทำฝายกักเก็บน้ำ และนำปูภูเขามาเลี้ยงในแปลงป่าต้นน้ำ เพื่อให้ปูขุดรูกักเก็บน้ำไว้ให้ โดยปู 1 ตัวเก็บน้ำได้ 1 ลิตร ทำให้มีน้ำใช้ในแปลงเกษตรตลอดปี อีกทั้ง มีระบบน้ำชลประทานมาช่วยในหน้าแล้งด้วย
 
       นอกจากนี้ มีการปลูกหวายหางหนูแบบธรรมชาติ เป็นการปลูกโดยขุดหลุมตื้น ทำให้ลำต้นเติบโตเร็วเพราะได้ปุ๋ยธรรมชาติบนหน้าดิน โดยเป็นหวายเส้นเล็กที่ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ รวมทั้ง มีการปลูกสมุนไพรระหว่างต้นไม้ใหญ่ เช่น ขมิ้น ไพร จากการปลูกพืชผสมผสาน ทำให้ครอบครัวสามารถเก็บผลผลิตทุกชนิดในแปลงเกษตรจำหน่าย มีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมเฉลี่ยปีละ 20,000 บาทเป็น 50,000 ถึง 100,000 บาท
 
      จากนั้น ทอดพระเนตรแปลงเกษตรของนายเปลี่ยน ขาเหล็ก ซึ่งเป็นแปลงขยายผล หลังจากได้มาศึกษาการทำเกษตรแบบผสมผสานจากแปลงเกษตรของนายเหรียญ คำแคว่น เมื่อปี 2556 โดยปรับเปลี่ยนพื้นที่ ปรับปรุงบำรุงดินโดยใช้ปุ๋ยพืชสดเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวในแปลงนา ปลูกไม้แบบผสมผสาน เช่น ถั่วมะแฮะ กาแฟ ฟักเขียว กล้วยน้ำว้า ถั่วดาวอินคา มะขามป้อม ลิ้นจี่ เงาะ ขุดบ่อเลี้ยงปลานิล ปลาดุก เพื่อจะได้มีผลผลิตเก็บจำหน่ายได้ตลอดปี
 
      เวลา 16.04 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังศูนย์ภูฟ้าพัฒนาฯ อำเภอบ่อเกลือ ทรงเยี่ยมราษฎร ผู้นำชุมชนท้องถิ่น และทรงเยี่ยมหน่วยแพทย์พระราชทาน กับ ทรงติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาเด็กและประชาชนในพื้นที่อำเภอบ่อเกลือและอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดน่าน ดำเนินงานโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา โดยมีพื้นที่การดำเนินงาน อำเภอบ่อเกลือและอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน ครอบคลุม 61 หมู่บ้าน ประชากรรวม 25,462 คน โดยดำเนินงานเน้นหนักใน 4 เรื่อง ได้แก่ การแก้ไขปัญหาภาวะโภชนาการในเด็กก่อนวัยเรียน แรกเกิดถึง 4 ปี การแก้ไขปัญหาภาวะโภชนาการขาดสารอาหารไอโอดีนในเด็กนักเรียน การป้องกันและควบคุมโรคหนอนพยาธิ การดูแลช่วยเหลือ ติดตามและฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยในพระราชานุเคราะห์ จากผลการดำเนินงาน พบว่า ปัญหาภาวะโภชนาการในเด็กก่อนวัยเรียนในพื้นที่ภูฟ้าพัฒนา จังหวัดน่าน มีแนวโน้มดีขึ้น เด็กน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์มีอัตราลดลง โดยในพื้นที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติลดลงเหลือไม่เกินร้อยละ 10 ตามเกณฑ์ ส่วนอำเภอบ่อเกลือ ต้องดำเนินการต่อเนื่องให้บรรลุเป้าหมายตามเกณฑ์
 
      จากนั้น ทอดพระเนตรงานกลุ่มอาชีพประชาชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้ต่อยอดผลผลิตทางการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าและเป็นการสร้างรายอีกทางหนึ่ง เช่น กลุ่มใยบวบ แปรรูปเปลือกบวบสร้างรายได้ นอกจากนี้ สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรมเข้ามาส่งเสริม ให้คำแนะนำ พัฒนาคุณภาพ และบรรจุภัณฑ์ผลผลิตทางการเกษตรของกลุ่มชาวบ้าน ให้มีคุณภาพมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง โดยจำหน่ายที่ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา อาทิ การทำชาข้าวสาลี ลูกต๋าวแช่อิ่มอบแห้ง ชามะขามป้อม นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรของวิสาหกิจ เพิ่มมูลค่าผลผลิตในท้องถิ่น ส่งเสริมและพัฒนากระบวนการกลุ่มสร้างอาชีพให้ชุมชน นำฟางข้าวที่เหลือมาใช้ประโยชน์ มาแปรรูปเป็นกระดาษย้อมสีธรรมชาติ และทำบรรจุภัณฑ์ต่างๆ การแปรรูปข้าวหอมล้านนาแกงทอดรสไส้อั่ว โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีล้านนาและกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโยโลยีมาให้คำแนะนำแก่ชาวบ้าน
 
      ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา จัดตั้งขึ้นตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรบนพื้นที่สูง ด้วยการส่งเสริมอาชีพที่เหมาะสมกับศักยภาพของราษฎร ทั้งยังเป็นศูนย์รวบรวมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องด้านการตลาด เพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ศึกษาธรรมชาติ วัฒนธรรมท้องถิ่น และเพื่อการศึกษาวิจัยถ่ายทอดความรู้การพัฒนาและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ที่ยั่งยืน
ป้ายกำกับ
ล่าสุด