วันที่ 30 มกราคม 2561 พลเอก ธนศักดิ์ เก่งถนอมม้า (คณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร) และนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองประธานคณะกรรมการปฏิรูประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ตรวจราชการความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนเพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากอย่างมั่นคง และลดความเหลื่อมล้ำของสังคมตามนโยบายรัฐบาลในเขตปฏิรูปที่ดิน หมู่ 8 ตำบลระบำ อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี พร้อมประชุมร่วมกับนายรัตนะ สวามีชัย รองเลขาธิการ ส.ป.ก. พร้อมทั้งข้าราชการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เจ้าหน้าที่และสมาชิกสหกรณ์ปฏิรูปที่ดินระบำ เพื่อหารือแนวทางการพัฒนาและการทำการเกษตรที่เหมาะสมในพื้นที่โครงการดังกล่าว
พลเอก ธนศักดิ์ เก่งถนอมม้า คณะทำงาน รมช.กษ. กล่าวว่า "หลังจากที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน ให้แก่สหกรณ์ปฏิรูปที่ดินระบำ จำกัด จำนวน 2,423 ไร่ กับสมาชิกสหกรณ์ฯ จำนวน 355 ราย โดยได้ยกเว้นค่าเช่าให้เป็นระยะเวลา 3 ปี เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559 เพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่สงวนหวงห้ามของรัฐการไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ของเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) โดยจัดที่ดินให้เกษตรกร เข้าทำกินและอยู่อาศัยในลักษณะไม่ให้กรรมสิทธิ์และให้บริหารจัดการที่ดินในรูปแบบสถาบันเกษตรกร”
นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า "คณะกรรมการปฏิรูปประเทศฯ ได้เสนอแผนปฏิรูปประเทศฯ ในการเร่งรัดการดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนครบวงจรตามแผนของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ คทช. เพื่อให้การแก้ไขปัญหาที่ดินป่าไม้ของรัฐเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ และได้เสนอแผนให้มีการพัฒนาพื้นที่กันชนรอบป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรที่อาศัยอยู่รอบป่า จะทำให้ลดการบุกรุกป่าและลักลอบล่าสัตว์ป่าในระยะยาวได้ โดยจะขยายผลไปทั่วประเทศจากพื้นที่กันชนและพื้นที่ คทช. ในเขตปฏิรูปที่ดินรอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี”
นายรัตนะ สวามีชัย รองเลขาธิการ ส.ป.ก. เผยถึงความก้าวหน้าของโครงการฯ ว่า "การจัดที่ดินในรูปแบบกลุ่มหรือสถาบันเกษตรกรนี้ จะมีหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานราชการ เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บูรณาการร่วมกันเพื่อส่งเสริมและสนับสนุน ในด้านต่างๆ เช่น
· การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การปรับพื้นที่ การขยายเขตไฟฟ้าเข้าในชุมชน ก่อสร้างถนนสายหลักและสายรองเข้าชุมชนและแปลงเกษตร ขุดสระน้ำ ระบบประปาหอถังสูง ระบบประปาผิวดิน ระบบกระจายน้ำ และก่อสร้างอาคารสำนักงานสหกรณ์ฯ ซึ่งการดำเนินงานในส่วนนี้ได้ดำเนินการไป 100% เหลือเพียงการขยายเขตไฟฟ้าและถนนในชุมชนบางส่วนซึ่งอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ
· การส่งเสริมการเกษตรพัฒนาอาชีพ ได้มีการจัดทำทางเลือกอาชีพระยะสั้นและระยะยาวด้านพืช โดยการส่งเสริมให้ทำการเกษตรผสมผสานปลูกพืชผักตามแนวทางเกษตรแปลงใหญ่ เช่น การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สลับกับการปลูกถั่ว ปลูกหญ้าเนเปียร์ ส่งเสริมโครงการเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชน เช่น การปลูกพืชผักสวนครัว ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ส่งเสริมการเลี้ยงปลาในสระเก็บน้ำ ไก่ กบ เลี้ยงโค กระบือ แพะ นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ทอผ้า ทำเครื่อง จักสาน และแปรรูปอาหาร เพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกรในการเพิ่มรายได้และลดรายจ่าย โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงวิถีชีวิตของเกษตรกร และกรมส่งเสริมสหกรณ์ ธกส. และ ส.ป.ก. ยังให้สมาชิกสหกรณ์ฯ กู้ยืมเงินเพื่อใช้หมุนเวียนในการประกอบอาชีพและสินเชื่อเพื่อการปลูกผักสวนครัว จำนวน 35 ราย รายละ 30,000 บาท
· การส่งเสริมด้านสวัสดิการสังคม มีการสนับสนุนเงินงบประมาณในการปรับสภาพที่อยู่อาศัยแก่ผู้สูงอายุและคนพิการในชุมชน จำนวน 5 หลังๆ ละ 20,000 บาท และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ให้ความช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์ฯ กู้เพื่อสร้าง ที่อยู่อาศัย โดยการก่อสร้างร่วมกันกับช่างชุมชนและเจ้าของบ้าน ซึ่งได้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้ว จำนวน 155 หลัง เหลือที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างในปี 2561 อีก 200 หลัง ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2561 นี้
รองเลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวเพิ่มเติมว่า "กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถือว่าเป็นโครงการต้นแบบในการ บูรณาร่วมกันกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน ในการพัฒนาความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้มั่นคั่งและมั่นคง ตามนโยบายของรัฐบาล เป็นการน้อมนำแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้เป็นแนวทางการดำเนินชีวิตร่วมกันของเกษตรกรในพื้นที่ ส่งผลให้เกษตรกรหลุดพ้นจากความยากจน มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น เกษตรกรเกิดความมั่นคงและภาคการเกษตรเกิดความยั่งยืน