การแสดงผลตัวอักษร
1764 ศูนย์บริการข้อมูล
TH EN
image banner

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

รองเลขาธิการ ส.ป.ก. พันจ่าเอกประเสริฐ มาลัย ร่วมคณะ รมช.กษ. ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ลุ่มเจ้าพระยาภาคกลาง พร้อมเร่งแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร และมอบส.ป.ก.๔-๐๑

กุมภาพันธ์ 15, 2563 | กิจกรรม ส.ป.ก.


วันอาทิตย์ที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมช.กษ.) ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ลุ่มเจ้าพระยาภาคกลาง พร้อมเร่งแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร และมอบส.ป.ก.๔-๐๑ พร้อมด้วย นายธนสาร ธรรมสอน ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นายนเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี, นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร, ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, พันจ่าเอก ประเสริฐ มาลัย รองเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.), นายเอกพงษ์ น้อยสร้าง หัวหน้าผู้ตรวจ ส.ป.ก., นายประเสริฐ กาญจนเกียรติกุล ปฏิรูปที่ดินจังหวัดลพบุรี ผอ.กอง/สำนัก และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องพร้อมเจ้าหน้าที่เข้าร่วม ณ จังหวัดลพบุรี
ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.กษ. เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำและการแก้ไขปัญหาภัยแล้งลุ่มเจ้าพระยาภาคกลาง ณ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี ว่า เนื่องจากสภาพน้ำต้นทุนที่มีจำกัด จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทางกระทรวงเกษตรฯ จึงได้กำหนดมาตรการในการบริหารจัดการน้ำ โดยให้ประตูระบายน้ำที่รับน้ำจากแม่น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เปิดรับน้ำเฉพาะการอุปโภคบริโภคเป็นครั้งคราว พร้อมให้งดปลูกข้าวนาปีต่อเนื่องในเดือนตุลาคม ๒๕๖๒ และข้าวนาปรัง ปี ๒๕๖๒/๖๓ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๒ ถึงเดือนเมษายน ๒๕๖๓ ลดการเพาะเลี้ยงในบ่อปลา บ่อกุ้ง เขตโครงการชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลดการเพาะเลี้ยงปลาในกระชัง ในแม่น้ำปิง แม่น้ำน่าน แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำท่าจีนและในระบบชลประทาน ระหว่างวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๒ ถึงวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๓ และขอความร่วมมือไม่ให้สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเพื่อการเกษตรสูบน้ำเข้าพื้นที่เพาะปลูก
พันจ่าเอกประเสริฐ มาลัย รองเลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการลงพื้นที่เพื่อติดตามการปัญหาฯแล้ว ในวันนี้ยังมีการมอบเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก. ๔-๐๑ ให้แก่เกษตรกรในจังหวัดลพบุรีอีกด้วย โดยจังหวัดลพบุรี มีพื้นที่ดำเนินการปฏิรูปที่ดินจำนวน ๖๙๓,๙๐๗ ไร่ (ใน ๑๐ อำเภอ จาก ๑๑ อำเภอ) ปัจจุบันจัดที่ดินไปแล้ว จำนวน ๓๐,๔๓๗ ราย ๔๗๙,๒๘๖ ไร่ คงเหลือที่ดินสามารถจัดได้ จำนวน ๗๙,๕๒๘ ไร่ ซึ่งในครั้งนี้ ได้มอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.๔-๐๑)ในท้องที่อำเภอพัฒนานิคม ประเภทที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จำนวน ๒ ราย ๓ แปลง เนื้อที่ ๑๓ - ๐ - ๒๐ ไร่ และประเภทที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย จำนวน ๓ ราย ๓ แปลง เนื้อที่ ๑ - ๒ - ๘๗ ไร่ รวมจำนวน ๕ ราย ๖ แปลง เนื้อที่ ๑๔ - ๓ - ๐๗ ไร่ และมอบเช็คเงินกู้ยืมเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจำนวน ๘ ราย อีกด้วย

ข่าว/ภาพ : สมเกียรติ ดีมั่น
ป้ายกำกับ
ล่าสุด