การแสดงผลตัวอักษร
1764 ศูนย์บริการข้อมูล
TH EN
image banner

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

รองนายกฯ และ รมว.กษ.มอบหนังสืออนุญาตฯ เเก่สหกรณ์การเกษตร อ.ดอนจาน จ.กาฬสินธุ์

สิงหาคม 7, 2560 | กิจกรรม ส.ป.ก.

รองนายกฯ และ รมว.กษ.มอบหนังสืออนุญาตฯ
เเก่สหกรณ์การเกษตร อ.ดอนจาน จ.กาฬสินธุ์ ๗๗๖ไร่ ๙๐ แปลง ๗๔ ราย
 
                  จากการเปิดเผยของ รองนายกรัฐมนตรี ( พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง ) กล่าวถึง ความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ตามนโยบายรัฐบาล กรณีพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน หมู่ ๔ ต.นาจำปา อ.ดอนจาน จ.กาฬสินธุ์ โดยมี นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นประธานการประชุมร่วมกับคณะบริหาร ของ ส.ป.ก. ได้ลงพื้นที่ตรวจติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินการจัดที่ดินตามนโยบาย คทช. และพบปะเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน ต.นาจำปา อ. ดอนจาน จ. กาฬสินธุ์ โดยพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน ต.นาจำปา อ. ดอนจาน จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้รับการส่งมอบที่ดินคืนจากเกษตรกรที่กระทำผิดระเบียบ ในพื้นที่ หมู่ ๔ ตำบลนาจำปา อำเภอดอนจาน จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน ๔๙ ราย ๕๘ แปลง เนื้อที่ ๗๗๖-๓-๐๓ ไร่ นำมาจัดที่ดินให้แก่เกษตรกรผู้ยากไร้ไม่มีที่ดินทำกิน ในรูปแบบกลุ่มหรือสถาบันเกษตรกร ตามนโยบายการแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่สงวนหวงห้ามของรัฐ และปัญหาผู้ยากไร้ไม่มีที่ดินทำกินและหรือที่อยู่อาศัย ในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ โดยการจัดหาที่ดินแปลงว่างเพื่อนำมาจัดให้เกษตรกร ได้เข้าทำกินและอยู่อาศัยในลักษณะไม่ให้กรรมสิทธิ์และให้บริหารจัดการที่ดินในรูปแบบกลุ่มหรือสถาบันเกษตรกร ผ่านคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) จากการตรวจสอบภาพถ่ายทางอากาศที่บริเวณนี้ เนื้อที่ ๑,๐๐๐ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่ายูคาลิปตัสทั้งหมด ปลูกเป็นแถวเป็นแนวยาว และเชื่อว่า จากสภาพการทำเกษตรกรรมนั้นปลูกพืชโดยนายทุนรายเดียว ส.ป.ก.จังหวัด ได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบ พบว่า มีนายทุนกว้านซื้อที่ดินไป จึงได้ติดตามทวงคืนโดยดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งผู้ถือครองโดยมิชอบ (นายทุน) ยอมคืนที่ดินให้ ส.ป.ก. และหลังจากกันพื้นที่บางส่วนที่อยู่นอกเขตปฏิรูปที่ดินออกไปแล้ว จึงเหลือพื้นที่ ๗๗๖-๓-๐๓ ไร่ โดย ส.ป.ก. ได้นำเสนอเข้าสู่โครงการจัดสรรที่ดินตามคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) สำหรับกระบวนการจัดที่ดิน ที่คทช.จังหวัดกาฬสินธุ์ ยึดหลักเกณฑ์คณะกรรมการนโยบายที่ดิน แห่งชาติ คือ
     ๑. ประเภทของผู้ที่จะได้รับการจัดที่ดิน (ผู้ที่ถูกผลักดันและอพยพจากพื้นที่ป่าต้นน้ำและป่า อนุรักษ์ที่สำคัญ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามโครงการของทางราชการที่สูญเสีย ที่ดินทำกิน เกษตรกรผู้ไร้ที่ดินทำกินที่ขอรับการจัดที่ดินที่มีถิ่นที่อยู่ในท้องที่ที่จะจัดที่ดินและได้ขึ้น ทะเบียนกับ ส.ป.ก. หรือหน่วยงานอื่น ๆ
     ๒. คุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับการจัดที่ดิน (มีสัญชาติไทย เป็นผู้ยากไร้ไม่มีที่ดินทำกิน และ/หรือที่อยู่อาศัย หรือมีรายได้ต่อปี ไม่เกิน ๓๐,๐๐๐ บาท/ราย บรรลุนิติภาวะแล้วและ/หรือเป็นหัวหน้าครอบครัว มีความสามารถทำประโยชน์ในที่ดินได้ และเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในท้องที่ที่จะจัดที่ดิน หรือใกล้เคียง ยอมรับการปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด และเงื่อนไขที่กำหนดทั้งจาก คทช. และหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ ปัจจุบันไม่ได้รับความช่วยเหลือในการจัดที่ดินทำกินจากทางราชการ ฯลฯ
     ๓. หลักเกณฑ์การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายของรัฐบาล จัดที่ดินทำกินให้ชุมชนหรือกลุ่มบุคคล/สถาบันเกษตรกรในรูปให้ใช้ประโยชน์ร่วมกันโดย ไม่ให้เป็นกรรมสิทธิ์ การจัดทำแผนผังแปลงที่ดินตามสัดส่วนที่เหมาะสมกับสภาพการทำประโยชน์ (Zoning) และความเหมาะสมของสภาพที่ดิน กำหนดจัดทำสาธารณูปโภคอย่างเหมาะสมกับพื้นที่ และความสะดวกในการใช้ประโยชน์และความเป็นอยู่) หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการจัดที่ดินและการใช้ประโยชน์ในที่ดินให้เป็นไปตามข้อกฎหมาย และข้อกำหนดของหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ ซึ่งผ่านความเห็นชอบของ คทช. แล้ว
     ๔. ขั้นตอนการดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติและคัดกรองเกษตรกร คทช.จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้นำหลักเกณฑ์คุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับการจัดที่ดินตามคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) กำหนดมาเป็นแนวทางในการตรวจสอบคุณสมบัติและคัดเลือกเกษตรกรตามประเภทและคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับจัดที่ดินและจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ได้รับ การจัดที่ดินตามโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ตามนโยบายรัฐบาล ต.นาจำปา อ.ดอนจาน จ.กาฬสินธุ์ จากเป้าหมายการจัดที่ดินรองรับเกษตรกร จำนวน ๙๐ ราย ปัจจุบัน คทช.จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้เห็นชอบที่มีคุณสมบัติสมควรได้รับการช่วยเหลือตามโครงการ จำนวน ๗๔ ราย กลุ่มที่ ๑. เกษตรกรรมผู้บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติดงแม่เผด (E) ในชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ ชั้น ๑ และชั้น ๒ จำนวน ๑๗ ราย กลุ่มที่ ๒. เกษตรกรผู้ยากไร้ไม่มีที่ดินทำกินและหรือที่อยู่อาศัย จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน ๕๗ ราย กลุ่มที่ ๓. แปลงที่ดินที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการจัดที่ดิน จำนวน ๑๖ ราย
          ด้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ) กล่าวว่า ภายหลังจาก ส.ป.ก. ยึดที่มาแล้ว จึงนำพื้นที่ดังกล่าว มาเตรียมพื้นที่เพื่อการจัดสรรกำหนดพื้นที่ (Zoning) โดยใช้แผนที่การเกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก หรือ Agri Map แล้ว มาวิเคราะห์ว่า สภาพที่ดินตรงนี้ เหมาะสมกับการปลูกพืชชนิดใด ซึ่งที่ดินบริเวณนี้ส่วนใหญ่ขาดความอุดมสมบูรณ์เนื่องจากการใช้พื้นที่ไม่เหมาะสม จึงกำหนดพื้นที่บริเวณนี้ให้เป็นหมู่บ้านเพื่อการปศุสัตว์ และได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาใช้เป็นแนวทางการดำเนินชีวิตร่วมกัน ทั้งเกษตรกรในท้องถิ่นได้แบ่งพื้นที่ออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนที่ ๑ สำหรับจัดสรรเป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกินรวมกัน จำนวน ๒๘๙ ไร่ แบ่งเป็นครัวเรือนละ ๒ ไร่ ๒ งาน เน้นการปลูกพืชผักสวนครัวและพืชที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และพื้นที่ส่วนกลางใช้ประโยชน์ร่วมกัน จำนวน ๒๔ ไร่ ส่วนที่ ๒ จัดสรรเป็นแปลงรวมปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ จำนวนประมาณ ๕๐๐ ไร่ ปัญหาหลักของโครงการนี้ คือ การขาดแคลนแหล่งน้ำบนดิน จากข้อมูลแผนที่น้ำบาดาล ที่ได้จากกรมทรัพยากรน้ำบาดาล พบว่า เมื่อเจาะลึกจากผิวดินลงไปราว ๑๐๐ – ๑๕๐ เมตร จะมีน้ำบาดาลเพียงพอต่อการทำการเกษตร ทำให้เกษตรกร มีน้ำใช้ได้ตลอดปี มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานพื้นที่บ้านดงกล้วย คือ - ส.ป.ก. สนับสนุนงบประมาณในการวางแผนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การวางผัง การทำถนน เส้นทางการคมนาคมในพื้นที่ - กรมชลประทาน สนับสนุนงบประมาณในการสร้างหอบังคับน้ำเพื่อเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ - จังหวัดกาฬสินธุ์ สนับสนุนงบประมาณการสร้างพลังงานแสงอาทิตย์ในการสูบน้ำ บาดาลที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ดำเนินการขุดไว้ - สำนักงานสหกรณ์จังหวัดกาฬสินธุ์ ดำเนินการสร้างสำนักงานสหกรณ์ - กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานในสังกัด ปลูกพืชผักในแปลงเกษตรกรรมตัวอย่าง เพื่อเป็นแปลงสาธิต ส่งผลให้เกิดแรงจูงใจในการทำเกษตรด้วยตนเองและชุมชนได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ พื้นที่ที่ ส.ป.ก.จัดสรรให้เกษตรกร มีทั้งการปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผักสมุนไพร พืชผักพื้นบ้าน ผักป่า ผักสวนครัว และอื่นๆ ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทุกอย่าง มีแปลงปลูกข้าว การเลี้ยงปลา การเพาะพันธุ์ปลาในบ่อปลา เรียกได้ว่าเป็นการผสมผสานทุกสิ่งทุกอย่างในพื้นที่จำกัด ๒ ไร่ ๒ งาน ได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือส่วนรวมเพื่อให้เกิดประโยชน์กับสมาชิกและชุมชนโดยใช้หลักคุณธรรม จริยธรรมและหลักธรรมาภิบาลที่ดีงาม ตามพื้นฐานของมนุษย์ ซึ่งสุดท้าย ก็จะทำให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม และเป็นการน้อมนำแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้เป็นแนวทางการดำเนินชีวิตร่วมกันของเกษตรกรในพื้นที่ ส่งผลให้เกษตรกรหลุดพ้นจากความยากจน มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น เกษตรกรเกิดความมั่นคงและภาคการเกษตรเกิดความยั่งยืน
           เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปทีดินเพื่อเกษตรกรรม (นายสมปอง อินทร์ทอง) กล่าวเสริมว่า คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดกาฬสินธุ์ (คปจ.กาฬสินธุ์) ครั้งที่ ๑/๒๕๕๙ (วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙) มีมติอนุญาตให้สหกรณ์การเกษตรบ้านดงกล้วย จำกัด เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน ป่าดงแม่เผด (E) หมู่ ๔ ตำบลนาจำปา อำเภอดอนจาน จังหวัดกาฬสินธุ์ เนื้อที่ ๗๗๖-๓-๐๓ ไร่ จำนวน ๓๖ ราย โดยการให้เช่าที่ดิน และส่งเรื่องให้ ส.ป.ก. นำเสนอคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพิจารณา เห็นชอบให้ยกเว้นค่าเช่าที่ดินเป็นระยะเวลา ๓ ปี ตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยการจัดที่ดินให้สถาบันเกษตรกร พ.ศ. ๒๕๕๘ และการประชุม คทช. จังหวัดกาฬสินธุ์ ครั้งที่ ๖/๒๕๕๙ (วันที่ ๖ กันยายน ๒๕๕๙) ได้เห็นชอบรายชื่อผู้ที่มีคุณสมบัติที่สมควร ให้ได้รับการช่วยเหลือส่งให้ คทช. และ ส.ป.ก. กาฬสินธุ์ เพื่อจัดที่ดินตามระเบียบเพิ่มอีก จำนวน ๓๘ ราย
ในวันนี้... (วันศุกร์ที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๕๙ เวลา ๐๙.๔๐ น.) สำนักงานการปฏิรูปทีดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้จัดพิธีมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินแก่เกษตรกร และหน่วยงานที่ร่วมบูรณาการของจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเธียรชัย อัจฉริยพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ผู้บริหารในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจังหวัดกาฬสินธุ์ ผู้แทนสหกรณ์การเกษตรและเกษตรกร ร่วมในพิธี
ป้ายกำกับ
ล่าสุด