การแสดงผลตัวอักษร
1764 ศูนย์บริการข้อมูล
TH EN
image banner

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

รมช.ธรรมนัส ลุยเกาะภูเก็ต ขับเคลื่อนแนวทางแก้ปัญหาที่ทำกินในเขตปฏิรูปที่ดินสู่ความยั่งยืน

พฤศจิกายน 1, 2563 | กิจกรรม ส.ป.ก.

รมช.ธรรมนัส ลุยเกาะภูเก็ต ขับเคลื่อนแนวทางแก้ปัญหาที่ทำกินในเขตปฏิรูปที่ดินสู่ความยั่งยืน

วันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
และคณะ ลงพื้นที่ตรวจราชการ ณ โรงเรียนเทศบาลเมืองป่าตอง (บ้านไสน้ำเย็น) ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต โดยมีนายณรงค์ วุ่นซิ้ว กล่าวต้อนรับ และ ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวรายงาน จากนั้น ร้อยเอก ธรรมนัสได้เยี่ยมชมนิทรรศการ พร้อมพบปะกับเกษตรกรที่มารอต้อนรับ ตลอดจนมอบนโยบายและรับฟังข้อเสนอแนะการขับเคลื่อนงานแก้ไขปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดภูเก็ต

"จังหวัดภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศเดินทางมาท่องเที่ยว ปีละกว่า ๑๐ ล้านคน สร้างรายได้มากกว่า ๔ แสนล้านบาทต่อปี เมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามามาก การใช้ทรัพยากรด้านต่าง ๆ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวก็เพิ่มตามไปด้วย โดยเฉพาะทรัพยากรที่ดินที่ใช้สำหรับก่อสร้างโรงแรมที่พัก อาคารร้านค้าและกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว พื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินของจังหวัดภูเก็ตเช่นเดียวกันที่กฎหมายและระเบียบกำหนดให้ใช้เพื่อการเกษตรกรรมหรือกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตร มีการเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ไม่ได้ทำการเกษตรนำไปใช้เพื่อกิจการที่รองรับนักท่องเที่ยวทั้งที่ถูกและผิดกฎหมาย ซึ่ง ส.ป.ก. ก็ได้ดำเนินการในด้านคดีความอยู่แล้วจำนวนหนึ่ง ซึ่งแต่ละคดีก็ใช้ระยะเวลาในกระบวนการยุติธรรมยาวนานหลายปี” ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าว

ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า "ในพื้นที่ปฏิรูปที่ดินที่มีการพัฒนาเปลี่ยนสภาพเป็นชุมชนเมืองไม่เหมาะสมสำหรับทำการเกษตร หรือทำการเกษตรไม่คุ้มค้าไม่สามารถสร้างรายได้เพียงพอกับตนเองและครอบครัว ทั้งนี้ ได้มอบนโยบายให้กับ ส.ป.ก. ไว้ว่า พื้นที่ ส.ป.ก. ของจังหวัดภูเก็ตที่มีโรงแรมจะไม่ไล่ทุบโรงแรม แต่จะแสวงหาแนวทางที่เกิดประโยชน์ร่วมกัน อาจปรับแก้กฎหมายให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ การดำเนินการปรับเปลี่ยนพื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดินที่ไม่เหมาะสมกับการทำการเกษตร และกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา เช่น มีการเก็บค่าเช่าที่ที่ไม่ได้ทำการเกษตร ในอัตราค่าเช่าที่แตกต่างจากพื้นที่ทำการเกษตร และนำเงินมาเข้ากองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อนำไปช่วยเหลือคนในพื้นที่ต่อไป ดังนั้นในวันนี้จึงได้มาดำเนินการรับฟังคนในพื้นที่ เพื่อหาแนวทางขับเคลื่อนงานแก้ไขปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดภูเก็ต ที่จะนำไปสู่การปรับปรุงระเบียบกฎหมายของ ส.ป.ก. ให้สอดคล้องกับพื้นที่ตองสนองกับความต้องการ ทันต่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้เป็นประโยชน์สูงสุดกับเกษตรกร ผู้ประกอบการและทางราชการ”

เลขาธิการ ส.ป.ก. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดภูเก็ต (ส.ป.ก.ภูเก็ต) มีพื้นที่ดำเนินการในเขตปฏิรูปที่ดินประมาณ ๑๓,๐๗๐ ไร่ และได้ดำเนินการจัดที่ดินให้แก่เกษตรกรไปแล้ว จำนวน ๔๗๔ ราย ๕๗๑ แปลง เนื้อที่ประมาณ ๘,๒๐๒ ไร่ มีการเพิกถอน ส.ป.ก.๔-๐๑ จำนวน ๑๓๒ ราย ๑๖๐ แปลง เนื้อที่ ๒,๖๗๖ ไร่ และมีการดำเนินการทางคดีตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน ดังนี้ (๑) คดีแพ่ง ๑๙ คดี (๒) คดีปกครอง ๕๗ คดี (๓) คดีอาญา ๑๗ คดี รวมจำนวน ๙๓ คดี ขณะที่พื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดภูเก็ต ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีทิวทัศน์สวยงามตามธรรมชาติ ทำให้มีการนำที่ดินไปประกอบกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น ก่อสร้างโรงแรมที่พัก สถานบริการ ร้านค้า ร้านอาหาร เป็นต้น ซึ่งไม่เป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วย การให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรผู้ได้รับการจัดที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน พ.ศ. ๒๕๓๕ โดย ส.ป.ก.ภูเก็ต จะต้องดำเนินการตามระเบียบฯ ในการสั่งให้สิ้นสิทธิการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน และเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.๔-๐๑) และการดำเนินการต่อเนื่องทั้งคดีแพ่งและอาญา ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเกษตรกรที่ต้องสูญเสียที่ดินทำกิน

"จากการให้นโยบายและแนวทางการปฏิบัติงานของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า) เมื่อวันพุธที่ ๘ เมษายน ๒๕๖๓ ณ ห้องประชุมไชยยงค์ ชูชาติ ส.ป.ก. ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ ว่าในพื้น ส.ป.ก.ภูเก็ต ที่มีโรงแรม จะไม่ไล่ทุบโรงแรม แต่จะแสวงหาแนวทางที่เกิดประโยชน์ร่วมกัน ทั้งนี้ อาจปรับแก้กฎหมายให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ การดำเนินการปรับเปลี่ยนพื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดินที่ไม่เหมาะสมกับการทำการเกษตร และกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา เช่น มีการเก็บค่าเช่า ที่ที่ไม่ได้ทำการเกษตร ในอัตราค่าเช่าที่แตกต่างจากพื้นที่ทำการเกษตร และนำเงินมาเข้ากองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อนำไปช่วยเหลือคนในพื้นที่ต่อไป เป็นต้น” เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวทิ้งท้าย


ข่าว : ธิดารัตน์ ซุ้ยขาว
ภาพ : ภาคีนัย กลิ่นกุล

ป้ายกำกับ
ล่าสุด