ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมช.กษ) มอบส.ป.ก.๔-๐๑ ให้เกษตรกรจังหวัดบึงกาฬ พร้อมเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.)
วันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๖๒ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า (รมช.กษ) ลงพี้นที่อำเภอศรีวิไล จังหวัดบึงกาฬ พบปะเกษตรกร พร้อมมอบหนังสืออนุญาติให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.๔-๐๑) จำนวน ๑,๓๒๖ ราย ๑,๔๕๙ แปลง เนื้อที่ ๓๙,๒๓๐.๘๙ ไร่ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬกล่าวต้อนรับ และพันจ่าเอก ประเสริฐ มาลัย รองเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวรายงานผลการดำเนินงานของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดบึงกาฬ ในการจัดสรรที่ดินให้เกษตรกร
สำหรับจังหวัดบึงกาฬ มีพื้นที่ประกาศพระราชกฤษฎีกาให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินทั้งสิ้น จำนวน ๘ อำเภอ ๕๒ ตำบล เนื้อที่ประมาณ ๑,๒๗๗,๓๐๖ ไร่ เดิมพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินทั้ง ๘ อำเภอดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดหนองคาย ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดบึงกาฬ โดยให้แยกอำเภอบึงกาฬ อำเภอเซกา อำเภอโซ่พิสัย อำเภอบุ่งคล้า อำเภอบึงโขงหลง อำเภอปากคาด อำเภอพรเจริญ และอำเภอศรีวิไล ออกจากเขตการปกครองของจังหวัดหนองคาย จึงมีผลให้พื้นที่ ๘ อำเภอ เป็นเขตปฏิรูปที่ดินอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดบึงกาฬ ซึ่งมีรายละเอียดการจัดที่ดิน ดังนี้ (๑) ที่ดินของรัฐ ได้ดำเนินการจัดที่ดินและมอบหนังสืออนุญาตให้เกษตรกร เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑) ไปแล้ว จำนวน ๘๐,๘๑๓ ราย ๙๐,๔๔๖ แปลง เนื้อที่ประมาณ ๑,๐๙๕,๙๖๔ ไร่ (๒) ที่ดินเอกชน ได้ดำเนินการจัดที่ดินโดยการทำสัญญาเช่าและสัญญาเช่าซื้อ จำนวน ๑๐ ราย ๑๒ แปลง เนื้อที่ประมาณ ๑๖๗ ไร่
ขณะที่ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา ส.ป.ก.จังหวัดบึงกาฬ ได้ดำเนินการจัดที่ดินให้แก่เกษตรกรไปแล้ว จำนวน ๒,๙๐๐ ราย ๓,๒๔๙ แปลง เนื้อที่ประมาณ ๓๓,๗๖๔ ไร่ รวมถึงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้แก่เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน จำนวน ๑๕ โครงการ
หลังจากนั้นในช่วงบ่าย รมช.กษ พร้อมคณะ ได้เดินทางไปตรวจติดตามการดำเนินงานกิจกรรมโครงการต่าง ๆ ผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดบึงกาฬ (ศพก.) ซึ่ง ศพก.แห่งนี้ขยายผลองค์ความรู้จาก ศพก.อำเภอศรีวิไล (นายวิชิต โพธิ์ขี) โดยมีนายประวิทย์ ทุ่งคำ เป็นเจ้าของศูนย์ฯ มีสมาชิกจำนวน ๓๖ ราย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก ส.ป.ก.บึงกาฬ องค์ความรู้เด่น ได้แก่ การทำเกษตรแบบผสมผสาน โดยเฉพาะด้านไม้ผล เช่น มะพร้าวน้ำหอม และการผลิตปุ๋ยชีวภาพ โดย ส.ป.ก.จังหวัดบึงกาฬ ได้เข้ามาดำเนินงานภายใต้โครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน กิจกรรมการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ในเขตปฏิรูปที่ดิน มีการส่งเสริมองค์ความรู้และสนับสนุนปัจจัยการผลิตในการทำเกษตรอินทรีย์แบบกลุ่มรับรองกันเอง (PGS) และดำเนินกิจกรรมวนเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน
นอกจากนั้น ส.ป.ก.บึงกาฬ ได้เพิ่มแผนดำเนินกิจกรรมการส่งเสริมพืชสมุนไพรในเขตปฏิรูปที่ดิน และโครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) และโครงการมอบสินเชื่อเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินให้เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน จำนวน ๒๐ ราย เป็นเงิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่ ศพก.เครือข่าย และสมาชิกให้มีความเป็นอยู่ที่มั่นคงต่อไป
ข่าว : อภิริยา ยอดมาลี
ภาพ : ภาคีนัย กลิ่นกุล