กันยายน 6, 2567 | กิจกรรมส่วนกลาง
ผู้ตรวจราชการ ส.ป.ก. ประชุมติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินงานตามแผนการตรวจราชการของ ส.ป.ก. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รอบที่ 2 เขตตรวจราชการที่ 1 จังหวัดลพบุรี พร้อมลงพื้นที่ติดตามการใช้งานฝายชะลอน้ำแบบชั่วคราว ในเขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดลพบุรี
วันที่ 6 กันยายน 2567 เวลา 09.30 น. นายคมกฤษ แป้นโพธิ์กลาง ผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เขตตรวจราชการที่ 1, 2, 8 ประชุมติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินงานตามแผนการตรวจราชการของ ส.ป.ก. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รอบที่ 2 เขตตรวจราชการที่ 1 ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดลพบุรี โดยมี จ.ส.ต.อติพัฒน์ ผิวขาว ปฏิรูปที่ดินจังหวัดลพบุรี พร้อมด้วยข้าราชการและเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ และเข้าร่วมประชุมพร้อมทั้งรายงานผลการดำเนินงาน และปัญหาอุปสรรค ณ ห้องประชุม ส.ป.ก.ลพบุรี
โอกาสนี้ ผู้ตรวจราชการกรม ได้ให้ข้อเสนอแนะ แนวทางการแก้ไขปัญหา แนวทางการดำเนินงานที่เป็นประโยชน์ พร้อมทั้งกำชับให้ทุกคนปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต มีความสามัคคี ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และได้ให้ขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน เพื่อให้ผลการปฏิบัติงานสำเร็จตามแผนงาน และสร้างประโยชน์สุขให้แก่เกษตรกรได้อยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืนต่อไป
เวลา 13.00 น. ผู้ตรวจราชการกรม พร้อมด้วย ปฏิรูปที่ดินจังหวัดลพบุรี นางสาวเปรม ตู้ดำ ผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์และการปฏิรูปที่ดิน นายพงศ์ศักดิ์ ทองจันทร์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานช่างและแผนที่ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ ได้ลงพื้นที่ร่วมกับข้าราชการ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ห้วยขุนราม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี โดย นายมานพ มั่นเจริญ นายกอบต.ห้วยขุนราม มอบหมายให้ นายสายบัว โมรา รองนายก อบต.ห้วยขุนราม และนายภัควัฒน์ พรหมแบ่ง ปลัด อบต.ห้วยขุนราม ตรวจติดการใช้ประโยชน์ฝายชะลอน้ำแบบชั่วคราว ณ พื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ต.ห้วยขุนราม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี
โครงการฝายชะลอน้ำแบบชั่วคราวสำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพของแหล่งน้ำในเขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดลพบุรี มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนและท้องถิ่นผ่านกลไกการจัดทำแผนชุมชน ซึ่งมีการจ้างผู้ช่วยแรงงานในชุมชนให้เกษตรกรมีรายได้ เกิดการขยายผลองค์ความรู้เรื่องฝายชะลอน้ำแบบชั่วคราวสู่ชุมชนและเกษตรกรรายอื่น นำไปสู่การสร้างฝายชะลอน้ำแบบชั่วคราวให้กระจายไปยังพื้นที่ต่างๆคืนความชุ่มชื้นในระบบนิเวศของเขตพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการกักน้ำไว้ในพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเพิ่มขึ้นของปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต่างๆที่มีอยู่ได้อย่างยั่งยืน
ข่าว : สิริญา โภชน์เจริญ
ภาพ : สิริญา โภชน์เจริญ/ ส.ป.ก.ลพบุรี
ประสานข้อมูล : พีรญา ทิพโชติ