image banner

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เข้าร่วมงาน และรับมอบรางวัล ในงานพิธีมอบรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2564 ที่ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) จัดขึ้น

กันยายน 17, 2564 | ภาพข่าว

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เข้าร่วมงาน และรับมอบรางวัล ในงานพิธีมอบรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2564 ที่ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) จัดขึ้น
 
          เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน 2564 ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) ได้เรียนเชิญสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เข้าร่วมงาน และรับมอบรางวัล ในงานพิธีมอบรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2564 เนื่องด้วยจากสถานการณ์ช่วงนี้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ทางสำนักงาน ก.พ.ร. จึงได้มีการดำเนินการเป็นไปตามมาตรการเฝ้าระวังของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) การเว้นระยะ (Social Distancing) เว้นระยะห่างระหว่างกัน จึงได้มีการกำหนดรูปแบบของการจัดงานพิธีมอบรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี พ.ศ. 2564 ในรูปแบบของการจัดงานผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์รูปแบบ virtual live ผ่านระบบออนไลน์ โดยเลขาธิการสำนักงาน ก.พ.ร. (นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ) ได้กล่าวการจัดพิธีมอบรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2564 เพื่อเชิดชูเกียรติให้แก่หน่วยงานที่มีผลการดำเนินการที่เป็นเลิศทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการภาครัฐ การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภายในองค์กร และเปิดระบบราชการให้ภาคส่วนอื่นเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งผลงานที่ได้รับรางวัลจะเป็นต้นแบบที่ดีให้แก่หน่วยงานอื่น ๆ ในการใช้เป็นแนวทางพัฒนาระบบงานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป พิธีมอบรางวัลในปีนี้มีความพิเศษเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีใหม่ โดยได้จัดพิธีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์แบบเสมือนจริง พร้อมถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Page : กพร OPDC และ Youtube Channel : สำนักงาน ก.พ.ร. ซึ่งได้รับเกียรติจากนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก.พ.ร. และ อ.ก.พ.ร. เข้าร่วมเป็นเกียรติในพิธี ตลอดจนผู้บริหารของหน่วยงานที่รับรางวัล และกองเชียร์เข้าร่วมเป็นกำลังใจให้แก่ผู้ขึ้นรับรางวัลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด
 
          นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงรางวัลเลิศรัฐว่า เป็นรางวัลมอบให้หน่วยงานภาครัฐที่ประสบความสำเร็จในการทำงาน มีผลงานที่ดีเด่น ซึ่งปีนี้มีหน่วยงานสมัครรางวัลมากที่สุดถึงพันกว่าผลงาน แสดงให้เห็นถึงความสนใจของหน่วยงาน ซึ่งผลงานที่ได้รับรางวัลสะท้อนถึงการทำงานของหน่วยงานอย่างมีธรรมาภิบาล และการคำนึงถึงบริบททางสังคมด้วยแนวคิดและวิธีการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป ยิ่งในสถานการณ์โควิด 19 ที่วิถีการทำงานเปลี่ยนแปลงไปเป็นแบบ New Normal ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงานและให้บริการประชาชน การมอบรางวัลก็ได้นำบริบทดังกล่าวมาพิจารณาด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ความยิ่งใหญ่ของรางวัลเลิศรัฐ คือ การสร้างความภาคภูมิใจและเกียรติยศร่วมกันของหน่วยงาน รวมถึงการนำผลงานไปต่อยอดขยายผล กลายเป็นต้นแบบให้หน่วยงานอื่นดำเนินการตาม เช่น ผลงานไทยฤทธิ์ พิชิตความพิการ ของโรงพยาบาลสิรินธร จังหวัดขอนแก่น และระบบตรวจสอบภายในด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพราะพิสูจน์ว่าเป็นเรื่องที่ดี และขอบคุณหน่วยงานต่าง ๆ ที่กระตือรือร้นเข้าร่วมพัฒนา และน่าจะรวมผลงานที่ได้รับรางวัลมาประกวดกันเอง เป็นรางวัล Super เลิศรัฐ ต่อยอดการทำงานให้ดียิ่งขึ้นไปอีก สำหรับผู้ที่ไม่ได้รับรางวัล อย่าท้อถอย ให้สนุกและเรียนรู้ไปด้วยกัน สุดท้ายก็จะประสบความสำเร็จ แต่อย่างไรก็มีความสุขในการทำงานเพื่อประชาชน ในปีนี้มีผลงานที่ส่งสมัครขอรับรางวัล ทั้งสิ้นจำนวน 1,688 ผลงาน และผ่านการพิจารณาให้ได้รับรางวัล จำนวน 234 รางวัล ประกอบด้วย 1) รางวัลเลิศรัฐยอดเยี่ยม ที่มอบให้กับหน่วยงานที่ได้รับรางวัลระดับดีเด่นทั้ง 3 สาขาในปีเดียวกัน (รางวัลบริการภาครัฐ รางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม และรางวัลการบริหารจัดการภาครัฐ) จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ กรมปศุสัตว์ และกรมสรรพากร 2) รางวัลเลิศรัฐสาขา จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ รางวัลเลิศรัฐ สาขาบริการภาครัฐ ในผลงานการพัฒนาแพลตฟอร์มระบบนิเวศข้อมูลดิจิทัลแบบบูรณาการ โดยนำเทคโนโลยี AI, Big Data มาใช้ ภายใต้แนวคิด Single Data Single Command และ Single Communication เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพของประเทศ โดยความร่วมมือของ 4 หน่วยงาน ได้แก่ กรมควบคุมโรค สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมการแพทย์ และ รางวัลเลิศรัฐสาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม คือ กรมชลประทาน ในผลงานโครงการผันน้ำแบบชุมชนมีส่วนร่วมในทุ่งหน่วงน้ำบางระกำ ที่ใช้พื้นที่ทำนาข้าว เป็นพื้นที่หน่วงน้ำ เพื่อช่วยลดผลกระทบจากน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้นกับจังหวัดอื่น ๆ และแก้ไขปัญหาทั้งระบบที่ได้รับการยินยอมจากชุมชน โดยอาศัยแนวคิดการเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการจากการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเป็นการปันประโยชน์ ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม 3) รางวัลบริการภาครัฐ ที่มอบให้หน่วยงานที่มีผลการพัฒนาคุณภาพการให้บริการเพื่อประชาชนได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว โปร่งใส เป็นธรรม และเป็นที่พึงพอใจของประชาชน รวม 103 รางวัล โดยปีนี้มีประเภทรางวัลใหม่ 2 ประเภท ได้แก่ ยกระดับบริการที่ตอบสนองต่อสถานการณ์โควิด 19 และยกระดับการอำนวยความสะดวกในการให้บริการ เพื่อสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐขับเคลื่อนการให้บริการที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน 4) รางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ที่มอบให้กับหน่วยงานที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารราชการบนพื้นฐานความรับผิดชอบและการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง รวม 78 รางวัล และ 5) รางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ที่มอบให้แก่หน่วยงานที่มุ่งมั่นตั้งใจในการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการขององค์กร รวมทั้งสิ้นจำนวน 49 รางวัล
 
          ในการนี้ ส.ป.ก. โดยท่านเลขาธิการ ส.ป.ก. (นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข) พร้อมด้วยรองเลขาธิการ ส.ป.ก. (นายวุฒิพงศ์ เนียมหอม) รองเลขาธิการ ส.ป.ก. (นายเอกพงศ์ น้อยสร้าง) และเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. ผู้เกี่ยวข้องจาก ส.ป.ก. ส่วนกลาง ส.ป.ก. ส่วนภูมิภาค และนางสาวกานดา ศากยะโรจน์ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร ได้เข้าร่วมงาน และรับมอบรางวัล ในงานพิธีมอบรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2564 ที่ทางสำนักงาน ก.พ.ร. จัดขึ้นผ่านระบบออนไลน์เข้ามาภายในงาน โดยในปี 2564 ส.ป.ก. ได้รับรางวัลเลิศรัฐ ดังนี้
 
          1. รางวัลผลงาน กระบวนการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการสินค้าปาล์มน้ำมัน ตำบลละแม อำเภอละแม จังหวัดชุมพร โดยได้รับรางวัลเลิศรัฐ "ระดับดีเด่น” สาขา การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมประเภทสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม (Effective Change) และนายทวีวัตร เครือสาย ได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประเภทผู้นำหุ้นส่วนความร่วมมือ (Engaged Citizen) ของทางสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดชุมพร (รางวัลจากสำนักงาน ก.พ.ร.)
          2. รางวัลผลงาน บ้าน วัด โรงเรียน : การพัฒนาแบบมีส่วนร่วมวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกพืชและสมุนไพรทางการเกษตรและแปรรูปในเขตปฏิรูปที่ดิน อำเภอซุมตาบง จังหวัดนครสวรรค์ โดยได้รับรางวัลเลิศรัฐ "ระดับดีเด่น” สาขา การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทร่วมใจแก้จน (Collaboration towards Poverty Eradication) ของทางสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครสวรรค์ (รางวัลจากสำนักงาน ป.ย.ป.)
           3. รางวัลผลงาน โครงการส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชน กลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร โดยได้รับรางวัลเลิศรัฐ "ระดับดี” สาขา การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม (Effective Change) ของทางสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดชุมพร (รางวัลจากสำนักงาน ก.พ.ร.)
 
ข่าวโดย : นายทรงเกียรติ สุเทพากุล / สำนักงาน ก.พ.ร.
ภาพโดย : นายทรงเกียรติ สุเทพากุล / กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ ส.ป.ก.
ป้ายกำกับ
ล่าสุด