image banner

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เข้าร่วมงาน และรับมอบรางวัล ในงานพิธีมอบรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2565 ที่ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) จัดขึ้นในรูปแบบ ผ่านระบบออนไลน์

กันยายน 12, 2565 | ภาพข่าว

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เข้าร่วมงาน และรับมอบรางวัล ในงานพิธีมอบรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2565 ที่ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) จัดขึ้นในรูปแบบ ผ่านระบบออนไลน์

     เมื่อวันจันทร์ที่ 12 กันยายน 2565 เวลา 10.00 น. ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) ได้เรียนเชิญสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เข้าร่วมงาน และรับมอบรางวัล ในงานพิธีมอบรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2565 โดยมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธาน และมอบรางวัลเลิศรัฐในครั้งนี้ เนื่องด้วยจากสถานการณ์ช่วงนี้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ทางสำนักงาน ก.พ.ร. จึงได้มีการดำเนินการเป็นไปตามมาตรการเฝ้าระวังของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) การเว้นระยะ (Social Distancing) เว้นระยะห่างระหว่างกัน จึงได้มีการกำหนดรูปแบบของการจัดงานพิธีมอบรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี พ.ศ. 2565 ในรูปแบบของการจัดงานผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์รูปแบบ virtual live ผ่านระบบออนไลน์ (ระบบออนไลน์ ZOOM Meeting) โดยเลขาธิการสำนักงาน ก.พ.ร. (นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ) ได้กล่าวว่า สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดพิธีมอบรางวัลฯ ขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งผลงานที่ได้รับรางวัลจะเป็นต้นแบบที่ดีให้แก่หน่วยงานอื่นๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาระบบงานของหน่วยงานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป สำหรับพิธีการมอบรางวัลเลิศรัฐในปีนี้ มีหน่วยงานที่สมัครรับรางวัลทั้งสิ้น 1,631 ผลงาน และผ่านการพิจารณาให้ได้รับรางวัลดังกล่าวจำนวนทั้งสิ้น 240 รางวัล ประกอบด้วย

1. รางวัลเกียรติยศสำหรับหน่วยงานที่ได้รับรางวัล United Nations Public Service Awards จำนวน 2 รางวัล 

2. รางวัลเกียรติยศเลิศรัฐสำหรับหน่วยงานที่มีความโดดเด่น โดยได้รับรางวัลเลิศรัฐอย่างต่อเนื่อง หน่วยงานมีความเป็นต้นแบบที่สร้างคุณค่าและพัฒนาอย่างยั่งยืน จำนวน 2 รางวัล

3. รางวัลเลิศรัฐยอดเยี่ยม ที่มอบให้กับหน่วยงานที่ได้รับรางวัลระดับดีเด่น ทั้ง 3 ประเภทรางวัลในปีเดียวกัน จำนวน 2 รางวัล

4. รางวัลพิเศษ สานพลังร่วมใจ ต้านภัยโควิด จำนวน 11 รางวัล

5. รางวัลบริการภาครัฐ ระดับดีเด่น จำนวน 15 รางวัล และระดับดี จำนวน 75 รางวัล

6. รางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ระดับดีเด่น จำนวน 33 รางวัลและระดับดี จำนวน 50 รางวัล

7. รางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ โดยเป็นรางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ รายหมวด จำนวน 23 รางวัล และรางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ 4.0 จำนวน 27 รางวัล 

     หลังจากนั้น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า แม้รางวัลเลิศรัฐจะเป็นเพียงรางวัลเล็ก ๆ แต่ผลงานต่าง ๆ ที่ได้รับรางวัลล้วนผ่านการคัดกรองเป็นอย่างดี รางวัลทรงเกียรตินี้ไม่เพียงแต่มอบเพื่อเป็นเกียรติคุณให้กับหน่วยงานเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการยกย่องเชิดชูทีมงานทุกคนที่ได้ร่วมกันผลักดันผลงานที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน ผลงานที่ได้รับรางวัลเลิศรัฐ ยังได้รับการยอมรับเป็นที่ประจักษ์จากระดับนานาชาติ ได้แก่ รางวัล United Nations Public Service Awards อีกด้วย

     ท่ามกลางกระแสโลกยุคผันผวน ที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จำเป็นที่หน่วยงานต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการผลักดันนวัตกรรมภาครัฐ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยต้องปรับวิธีการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการขับเคลื่อนองค์การโดยใช้ข้อมูล (Data Driven Organization) มีการเชื่อมโยงข้อมูลการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน การพัฒนาระบบการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกมากขึ้น (Better Service) ออกแบบการให้บริการเฉพาะบุคคล (Personalized Service) การสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อนำมาใช้ในการทำงานและยกระดับการให้บริการ (Public Service Innovation) การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างหน่วยงานส่วนกลางกับส่วนภูมิภาค (Knowledge Sharing) การพัฒนาไปสู่ภาครัฐระบบเปิด (Open Government) การพัฒนาไปสู่องค์การดิจิทัล (Digital Transformation) เพื่อนำไปสู่บริการภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ความต้องการ และช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน

     ความพิเศษในปีนี้ คือการมอบรางวัลเกียรติยศเลิศรัฐ (Super เลิศรัฐ) เป็นรางวัลสูงสุดเพื่อเชิดชูเกียรติให้กับหน่วยงานของรัฐที่มีความเพียรพยายาม มุ่งมั่นพัฒนาบริการประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง จนสามารถเป็นต้นแบบที่สร้างคุณค่า และมีความยั่งยืน มีหน่วยงานที่ได้รับรางวัลนี้ จำนวน 2 หน่วยงาน ได้แก่ กรมควบคุมโรค เป็นหน่วยงานที่มีการพัฒนาองค์การอย่างต่อเนื่องจนเป็นต้นแบบในการพัฒนาระบบการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ และกรมสรรพากร ถือเป็นต้นแบบของหน่วยงานที่นำนวัตกรรมมาขับเคลื่อนองค์กรอย่างต่อเนื่องโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และ รางวัลพิเศษ สานพลังร่วมใจ ต้านภัยโควิด มอบให้กับหน่วยงานที่มีผลงานโดดเด่นในการขับเคลื่อนเพื่อรับมือกับสภาวะวิกฤติโควิด-19 เช่น “Application หมอพร้อม” ของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข “ทีมเรามีเรา” ทีมปฏิบัติการเพื่อคนพิการในวิกฤตโควิด-19 ของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ “อสม. กลไกการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการปัญหาโควิด-19” ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เป็นต้น

     การพัฒนาระบบราชการในระยะต่อไป จึงมุ่งพัฒนาภาครัฐให้เป็นรัฐบาลดิจิทัลที่มีความล้ำหน้าและทันสมัย สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาการทำงานและการให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเป็นรัฐบาลเปิดที่เชื่อมต่อการทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่น อันนำไปสู่การบรรลุผลลัพธ์ที่ดีต่อประชาชน ซึ่งจะทำให้เกิดความเชื่อถือไว้วางใจของประชาชนต่อภาครัฐต่อไป โดยมีจุดมุ่งเน้นในการดำเนินการประกอบด้วย

1. ยกระดับบริการภาครัฐ ผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง ตอบโจทย์ มีทางเลือกในการรับบริการที่หลากหลาย ทั่วถึง และครอบคลุมความต้องการของประชาชนทุกกลุ่ม ในขณะที่ภาครัฐสามารถส่งมอบบริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการเปิดให้ภาคส่วนอื่นร่วมให้บริการหรือให้บริการแทนภาครัฐ

2. ลดบทบาทภาครัฐ เปิดการมีส่วนร่วมของภาคส่วนอื่น เพื่อให้ภาครัฐมีขนาดที่เหมาะสมกับบทบาทภารกิจ โดยการลดบทบาทภาครัฐส่วนกลางและกระจายอำนาจการบริหารลงไปในระดับพื้นที่ ควบคู่กับการเปิดให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม เพื่อให้งานบริการภาครัฐเข้าถึงประชาชนและได้รับประโยชน์ 

3. เร่งปรับภาครัฐสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) เพื่อให้ภาครัฐสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาการทำงานและการให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4. ยกระดับระบบบริหารงานที่ยืดหยุ่น คล่องตัว เพื่อให้ภาครัฐสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศและตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยปรับระบบงานให้ยืดหยุ่นคล่องตัว ทั้งในด้านโครงสร้าง ระบบงบประมาณการบริหารจัดการบุคลากร และกฎ ระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง พัฒนากลไกสร้างนวัตกรรมทางการบริหารและระบบนิเวศ (Ecosystem) ในการทำงานที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมในหน่วยงาน พัฒนาทักษะของบุคลากรภาครัฐ

     สิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมาทั้งหมด ขอให้ทุกท่าน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนและพัฒนาระบบราชการไทยให้เป็นเสาหลักของการพัฒนาประเทศ โดยมีสำนักงาน ก.พ.ร. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาระบบราชการ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ เป็นต้น ในการร่วมมือกันพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้การปฏิบัติงานบรรลุผลสำเร็จ และเกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด ความสำเร็จในวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นและขยายผลการพัฒนาต่อไป สำหรับส่วนราชการอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้รับรางวัลเลิศรัฐ ขอให้พัฒนาต่อไป เพราะสิ่งที่ทุกหน่วยกำลังดำเนินการนั้น ได้สร้างประโยชน์มากมายกับประชาชนและประเทศไทย

     ในการนี้ ส.ป.ก. รองเลขาธิการ ส.ป.ก. (นายวุฒิพงศ์ เนียมหอม) ได้รับมอบหมายจากท่านเลขาธิการ ส.ป.ก. (นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข) ในการเข้าร่วมรับมอบรางวัล ในงานพิธีมอบรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2565 ผ่านระบบออนไลน์ ในครั้งนี้ ณ (ห้องประชุมออนไลน์) ห้องประชุมไชยยงค์ ชูชาติ ส.ป.ก. ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ  โดยมีเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. ผู้เกี่ยวข้องจาก ส.ป.ก. ส่วนกลาง ส.ป.ก. ส่วนภูมิภาค และนางสาวกานดา ศากยะโรจน์ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร ได้เข้าร่วมในครั้งนี้ผ่านระบบออนไลน์ด้วย ในส่วนของงานพิธีมอบรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2565 ที่ทางสำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดขึ้นครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 โดยในปี 2565 ส.ป.ก. ได้รับรางวัลเลิศรัฐ จำนวน 5 รางวัล ดังนี้ 

  1. รางวัล “ระดับดีเด่น” สวมหมวกให้ภูเขา ใส่รองเท้าให้ตีนดอย : เกษตรบนฐานธรรม (สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดน่าน) สาขาบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทรางวัลสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม (รางวัลจากสำนักงาน ก.พ.ร.)
  2. รางวัล “ระดับดีเด่น” พระครูสุจิณ นันทกิจ (เจ้าอาวาสวัดโป่งคำ) “สวมหมวกให้ภูเขา ใส่รองเท้าให้ตีนดอย : เกษตรบนฐานธรรม” (สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดน่าน) สาขาบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทผู้นำหุ้นส่วนความร่วมมือ (รางวัลจากสำนักงาน ก.พ.ร.)
  3. รางวัล “ระดับดีเด่น” วิสาหกิจชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์พืชผักสมุนไพรและผลไม้ อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน (สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดลำพูน) สาขาบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทร่วมใจแก้จน(รางวัลจากสำนักงาน ป.ย.ป.)
  4. รางวัล “ระดับดี” ตลาดนำการผลิต พริก พลิกชีวิต พิชิตความจน คนท่าวังผา (สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดน่าน) สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทร่วมใจแก้จน (รางวัลจากสำนักงาน ป.ย.ป.) 
  5. รางวัล “ระดับดี” คทช.หงษ์เจริญ ร่วมใจแก้จน ด้วยวิถีชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง (สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดชุมพร) สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทร่วมใจแก้จน (รางวัลจากสำนักงาน ป.ย.ป.)

ข่าวโดย : นายทรงเกียรติ สุเทพากุล / สำนักงาน ก.พ.ร. 

ภาพโดย : กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร ส.ป.ก. / กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ ส.ป.ก.

 

 

ป้ายกำกับ
ล่าสุด