สิงหาคม 23, 2566 | ภาพข่าว
วันอังคารที่ 22 สิงหาคม 2566 ณ ห้องประชุมอินทนิล โรงแรมร้อยเอ็ดโฮเทล จังหวัดร้อยเอ็ด สำนักวิชาการและแผนงาน ร่วมกับสำนักจัดการปฏิรูปที่ดิน ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และสำนักกฎหมาย จัดสัมมนา เรื่อง แนวทางการขับเคลื่อนกิจกรรมศูนย์บริการประชาชนในเขตปฏิรูปที่ดินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 22-23 สิงหาคม 2566 โดยมีเลขาธิการ ส.ป.ก. (นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข) ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการสัมมนา พร้อมด้วยรองเลขาธิการ ส.ป.ก. ผู้ตรวจราชการกรม ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย ผู้อำนวยการสำนักจัดการปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูปที่ดินจังหวัด พร้อมเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.จังหวัดในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียนกิจกรรมศูนย์บริการประชาชน เพื่อกำหนดเป็นแนวทางในการพัฒนาปรับปรุงการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพต่อไป
เลขาธิการ ส.ป.ก. (นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข) ได้มอบนโยบายในคราวเปิดการสัมมนาฯ ครั้งนี้ว่า ส.ป.ก. มีภารกิจสำคัญในการจัดที่ดินให้เกษตร รวมถึงการดูแลให้เกษตรกรอยู่ดีมีสุข ดังนั้น การให้บริการประชาชนจึงเป็นเรื่องสำคัญ และสอดคล้องกับนโยบายที่ภาครัฐพยายามผลักดันในเรื่องการปรับปรุงงานบริการภาครัฐให้เป็นรูปแบบดิจิทัลเพิ่มขึ้น โดยฝาก 4 ประเด็นสำคัญเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำพิจารณาและกำหนดแนวทางการให้บริการประชาชนที่มีประสิทธิภาพ ดังนี้
1 มีวิธีการใดบ้างที่สามารถช่วยให้ชาวบ้านเข้าใจกระบวนการต่าง ๆ ของ ส.ป.ก. ได้โดยง่าย
2 เราสามารถลดขั้นตอนหรือความซับซ้อนในการให้บริการเกษตรกรได้หรือไม่ อย่างไร
3 ทำอย่างไร จะสามารถให้ชาวบ้านเข้าถึงการให้บริการของ ส.ป.ก. ได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง
4 ระเบียบและข้อกฎหมายต่าง ๆ ของ ส.ป.ก. มีความโปร่งใสและเป็นธรรมกับชาวบ้านแล้วหรือไม่
นอกจากนี้ ยังเล็งใช้ ส.ป.ก.อุดรธานี เป็นต้นแบบการให้บริการประชาชนของ ส.ป.ก.จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งจากข้อมูลสถิติในช่วงวันที่ 19 มิถุนายน – 9 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา พบว่ามีเกษตรกรมารับบริการมากถึง 5,281 ราย เฉลี่ย 155 รายต่อวัน แต่ ส.ป.ก.อุดรธานี ก็มีระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ในการให้บริการยื่นคำขอออนไลน์ การจองคิวออนไลน์ รวมถึงระบบติดตามสถานะออนไลน์ เพื่อให้สามารถบริการเกษตรกรได้อย่างครอบคลุม ทั่วถึง ช่วยลดระยะเวลารอคอยของผู้มาติดต่อ และลดค่าใช้จ่ายของเกษตรกรตามไปด้วย
จะเห็นได้ว่า หากเราสามารถวางรูปแบบการให้บริการประชาชนที่มีประสิทธิภาพได้ ไม่เพียงแต่ส่งผลดีต่อเกษตรกรในการได้รับความสะดวกสบายจากการให้บริการเท่านั้น แต่ยังช่วยเสริมภาพลักษณ์ของ ส.ป.ก. ในการปรับตัวสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลที่มีความโปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้
…………………………………………………………………………………………………………………………….
เนื้อหา : กลุ่มนโยบาย แผนงานและงบประมาณ สำนักวิชาการและแผนงาน
ภาพข่าว : กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักบริหารกลาง