image banner

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

สวผ. จับมือ สพท. ศทส. และ 17 จังหวัดภาคเหนือ ถอดบทเรียนโครงการเฝ้าระวังการเผาซากพืช วัชพืช และวัสดุทางการเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินภาคเหนือ

สิงหาคม 8, 2566 | ภาพข่าว

วันจันทร์ที่ 7 สิงหาคม 2566 เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมพลอยไพลิน โรงแรมกรีนเลค รีสอร์ท จังหวัดเชียงใหม่ สำนักวิชาการและแผนงาน จัดสัมมนา เรื่อง แนวทางการดำเนินงานโครงการเฝ้าระวังการเผาซากพืช วัชพืช และวัสดุทางการเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินภาคเหนือ โดยรองเลขาธิการ ส.ป.ก. (นายวุฒิพงศ์ เนียมหอม) ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการสัมมนา การสัมมนาจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-8 สิงหาคม 2566 ซึ่งผู้เข้าร่วมการสัมมนาฯ ประกอบด้วย คณะผู้บริหาร ปฏิรูปที่ดินจังหวัดภาคเหนือ และเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. ทั้งจากส่วนกลาง และ ส.ป.ก.จังหวัด รวมทั้งสิ้น 100 ราย ซึ่งการสัมมนาจัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียนจากการดำเนินโครงการฯ เพื่อกำหนดเป็นแนวทาง
ในการพัฒนาปรับปรุงโครงการฯ มีประสิทธิภาพต่อไป

จุดเริ่มต้นของโครงการนี้ เกิดขึ้นเนื่องจากรัฐบาลให้ความสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบควบคุมการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม จึงได้กำหนดแผนประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับผลกระทบจากการเผาทำลายในพื้นที่เกษตรกรรมและนำเทคโนโลยีมาช่วยในการกำจัดเศษวัสดุทางการเกษตรทดแทนการเผา ส.ป.ก. ในฐานะหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว ผ่านโครงการเฝ้าระวังการเผาซากพืช วัชพืช และวัสดุทางการเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน 

แม้ที่ผ่านมา หน่วยงานในระดับพื้นที่จะขับเคลื่อนโครงการฯ อย่างเต็มประสิทธิภาพ ผ่านการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ และสร้างความตระหนักเกี่ยวกับผลกระทบจากการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมผ่านสื่อต่าง ๆ แต่ทว่าหลายพื้นที่ก็ยังประสบปัญหาหมอกควัน และฝุ่น pm 2.5 อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ อีกทั้งปัจจุบันการลดจุดความร้อนในพื้นที่เกษตรกรรมได้ถูกกำหนดให้เป็นตัวชี้วัดระดับกรม ส.ป.ก. จึงจำเป็นต้องออกแบบโครงการฯ ให้สอดคล้องกับนโยบายต่าง ๆ และสามารถแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ รองเลขาธิการ ส.ป.ก. (นายวุฒิพงศ์ เนียมหอม) ได้เน้นย้ำถึงเป้าหมายของ ส.ป.ก. ที่จะต้องบรรลุในปี 2567 นั่นคือการลดจำนวนจุดความร้อนในพื้นที่ ส.ป.ก. ให้น้อยกว่าหรือเท่ากับ 1,733 จุด หรือลดลงร้อยละ 15 เทียบจากปีที่ผ่านมา ถือเป็นความท้าทายสำคัญที่หน่วยงานจะต้องร่วมมือกันวางแผนและกำหนดแนวทางขับเคลื่อนโครงการฯ ให้ตอบโจทย์ตัวชี้วัดขับเคลื่อนการบูรณาการร่วมกันของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต่อไป

อีกทั้งจากการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พบว่ามีหลายแนวคิดที่น่าสนใจและช่วยจุดประกายความหวังในการแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่ ส.ป.ก. ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น อาทิ การจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอ การกำหนดพื้นที่เป้าหมายให้สอดคล้องกับข้อมูลจุดความร้อน การจัดการสิ่งแวดล้อมผ่านกลไกคาร์บอนเครดิต คาร์บอนฟุตพริ้นท์ และการส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า การเดินหน้าสร้างจิตสำนึกให้เกษตรกรตระหนักถึงผลกระทบจากการเผาพื้นที่การเกษตรเพียงอย่างเดียวคงจะไม่เพียงพอ ดังนั้น ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสำนักวิชาการและแผนงาน ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี ส.ป.ก.จังหวัด  และเครือข่ายเกษตรกร จำเป็นต้องบูรณาการร่วมกัน เพื่อนำแนวทางใหม่ ๆ มาปรับใช้อย่างเหมาะสม เพื่อให้โครงการฯ สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

ยิ่งเราลดพฤติกรรมการเผาในพื้นที่การเกษตรได้มากเท่าไร เราก็จะสามารถคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมที่อุดมสมบูรณ์ ให้สืบทอดต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานได้มากขึ้นเท่านั้น

ภาพข่าว/เนื้อหา : กลุ่มนโยบาย แผนงานและงบประมาณ สำนักวิชาการและแผนงาน