image banner

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

สำนักวิชาการและแผนงานร่วมศึกษาดูงานด้านนวัตกรรมเกษตรครบวงจร ณ คูโบต้าฟาร์ม จังหวัดชลบุรี

พฤษภาคม 19, 2565 | ภาพข่าว

          วันที่ 18 พฤษภาคม 2565 สำนักวิชาการและแผนงาน นำโดย นางสาวอาภาพรรณ พัฒนพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการปฏิรูปที่ดิน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กลุ่มนโยบายแผนงานและงบประมาณ และกลุ่มติดตามและประเมินผล ร่วมกับสำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักพัฒนาพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน กลุ่มเกษตรกรจากพื้นที่โครงการการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) ตำบลหงส์เจริญ อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร และเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.ชุมพร เข้าร่วมศึกษาดูงานด้านนวัตกรรมเกษตรครบวงจร ภายใต้โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ในเขตปฏิรูปที่ดิน จังหวัดชุมพร ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ณ คูโบต้าฟาร์ม ตำบลหนองอิรุณ อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี 

         คูโบต้าฟาร์ม เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านนวัตกรรมเกษตรครบวงจร ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อ สร้างประสบการณ์การเรียนรู้ และทดลองปฏิบัติด้านการเกษตรครบวงจร ให้แก่เกษตรกรและบุคคลทั่วไปที่สนใจ โดยได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร มาเป็นแนวทางในการพัฒนา ผนวกกับการศึกษาปัญหา และความต้องการของเกษตรกร เพื่อนำข้อมูลมาพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ตอบสนองความต้องการได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาภาคการเกษตรได้อย่างยั่งยืน รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมเกษตรครบวงจร ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตลดต้นทุน ลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยการนำเสนอความรู้ในด้านการเพาะปลูกและความรู้ด้านเทคโนโลยี เครื่องจักรกลการเกษตร ที่ผสมผสานกับเทคโนโลยี I๐T เทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนแรงงาน ช่วยให้การทำเกษตรมีความแม่นยำมากขึ้น และลดความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดจากภาวะภายนอกที่มากระทบกับระบบการเพาะปลูก

       คูโบต้าฟาร์ม ดำเนินการบนแนวคิดการพัฒนาการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตร (Solution) ที่มีการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนผสานการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมแบ่งพื้นที่การเรียนรู้การทำเกษตรครบวงจรจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ โดยแบ่งพื้นที่การเรียนรู้การทำเกษตรครบวงจรจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ออกเป็น 10 โซน ได้แก่ 1) โซนปรึกษาเกษตรกรครบวงจร 2) โซนเกษตรแม่นยำและพืชหลังนา 3) โซนเกษตรทฤษฎีใหม่ 4) โซนยางพารา ปาล์มน้ำมัน 5) โซนนวัตกรรมพืชสวน 6) โซนระบบโครงสร้างพื้นฐาน 7) โซนเกษตรสมัยใหม่พืชไร่ 8) โซนวิจัยเกษตรครบวงจร 9) โซนอบรมเกษตรครบวงจร และ 10) โซนพื้นที่สร้างประสบการณ์นวัตกรรมการเกษตร ทั้งนี้ เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินสามารถนำแนวคิดการพัฒนา และองค์ความรู้ด้านการใช้นวัตกรรมการเกษตร มาปรับใช้ในการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้านการเกษตรของชุมชนได้