หน้าที่ของเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน เมื่อเกษตรกรได้รับการคัดเลือกเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินลงชื่อในหนังสือรับมอบที่ดินและหรือทำสัญญาเช่า หรือสัญญาเช่าชื้อ หรือสัญญาจัดให้โดยมีค่าชดเชยเรียบร้อยแล้ว จะต้องเริ่มเข้าทำประโยชน์ในที่ดินนั้น และมีหน้าที่ต้องปฏิบัติดังนี้ 1. ทำประโยชน์ในที่ดินด้วยตนเอง อย่างเต็มความสามารถ และไม่นำที่ดินนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนไปให้ผู้อื่นเช่า ให้ทำประโยชน์ หรือขาย หากไม่ต้องการจะทำประโยชน์ในที่ดินให้ยื่นคำขอสละสิทธิ หรือขอโอนสิทธิในที่ดินนั้นให้สามีหรือภริยา หรือบุตรที่บรรลุนิติภาวะ โดยยื่นคำขอได้ที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัด (ส.ป.ก. จังหวัด) 2. ไม่เปลี่ยนแปลงสภาพที่ดินจนเป็นเหตุให้ที่ดินเสื่อมสภาพความเหมาะสมแก่การประกอบเกษตรกรรม เช่น ขุดหน้าดินขาย 3. ไม่ขุดบ่อเพื่อเกษตรกรรมเกินกว่าร้อยละ 5 ของพื้นที่ที่ได้รับมอบ เช่น ถ้าส.ป.ก.จัดที่ดินให้ 20ไร่ จะขุดบ่อได้ไม่เกิน 1 ไร่ และต้องไม่ปลูกสร้างสิ่งก่อสร้างใดๆ นอกเหนือจากปลูกสร้างโรงเรือน ยุ้ง ฉาง ที่อยู่อาศัย หรือสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ที่ใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรของเกษตรกรนั้นตามสมควร หากต้องการจะทำการใดๆ ที่เกินจากนี้ให้ยื่นคำขออนุญาตต่อ ส.ป.ก.จังหวัดก่อน 4. ดูแลรักษาหมุดหลักฐานและหลักเขตในที่ดินที่ได้รับมอบ มิให้เกิดชำรุดเสียหายหรือเคลื่อนย้ายไปจากตำแหน่งเดิม 5. ไม่กระทำการใดๆ ในลักษณะที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่สิ่งก่อสร้างในโครงการปฎิรูปที่ดิน สภาพแวดล้อมหรือเสียหายต่อการทำประโยชน์ในที่ดินของเกษตรกรอื่น 6. ปฎิบัติตามมติคณะกรรมการปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(คปก.)และคณะกรรมการปฎิรูปที่ดินจังหวัด(คปจ.) 7. ปฎิบัติตามสัญญากู้ยืมที่ทำกับส.ป.ก. และตามพันธะกรณีที่มีอยู่กับสถาบันการเงิน หรือบุคคลที่ดำเนินงานรวมกับส.ป.ก. เช่น ตามสัญญากู้ยืมเงินกับ ธ.ก.ส. หรือสัญญาตามโครงการพัฒนาการเกษตรร่วมกับภาคเอกชน นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกป่าหรือไม้ยืนต้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของเนื้อที่ในแปลงที่ดินที่ได้รับจัดจาก ส.ป.ก.อีกด้วย ถ้าเกษตรกรไม่ปฎิบัติตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ปฎิรูปที่ดินจังหวัดจะมีหนังสือเตือนให้ปฎิบัติให้ถูกต้องภายในเวลาที่กกำหนด ถ้าเกษตรกรยังคงฝ่าฝืนโดยไม่มีเหตุอันสมควรคณะกรรมการปฎิรูปที่ดินจังหวัด(ค.ป.จ.) จะมีคำสั่งให้สิ้นสิทธิและต้องออกจากที่ดิน