กรกฎาคม 1, 2567 | ภาพข่าว
เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 นายรัตนะ สวามีชัย คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินและป่าไม้ ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของเครือข่ายสภาประชาชนอีสาน (สอส.) และสภาประชาชน 4 ภาค พร้อมเจ้าหน้าที่กลุ่มแก้ไขปัญหาที่ดิน สำนักจัดการปฏิรูปที่ดิน ให้ร่วมประชุมหารือแนวทางแก้ไขปัญหา ณ ส.ป.ก.นครราชสีมา โดยมีนายอำมริต คงแก้ว ปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา เกษตรจังหวัดนครราชสีมา และสหกรณ์จังหวัดนครราชสีมา พร้อมเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.นครราชสีมา ร่วมชี้แจงข้อเท็จจริงและสภาพปัญหาด้านการจัดที่ดินโครงการดังกล่าวว่า ปัจจุบันมีปัญหาด้านการจัดเก็บค่าเช่าซื้อและแกนนำมีความต้องการนำพื้นที่แปลงว่างและพื้นที่ที่เกษตรกรตามบัญชีรายชื่อ 1,889 ราย ไม่เข้าทำประโยชน์มาจัดให้แก่สมาชิกบัญชีรายชื่อ 2 รวมทั้งขอให้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2567 ได้ร่วมประชุมหารือแก้ไขปัญหาดังกล่าว ณ ส.ป.ก.ลพบุรี โดยมี จ.ส.ต.อติพัฒน์ ผิวขาว ปฏิรูปที่ดินจังหวัดลพบุรี และ ดร. วศ.ไพฑูรย์ สิงห์ไข่มุก ที่ปรึกษาผู้ตรวจราชการภาคประชาชนด้านเศรษฐกิจ สำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.จังหวัดที่เกี่ยวข้อง ร่วมชี้แจงข้อเท็จจริงและสภาพปัญหาว่า โดยปัจจุบันมีปัญหากรณีเกษตรกรที่ทำสัญญาเช่าซื้อแล้วส่วนใหญ่ไม่เข้าทำประโยชน์และไม่ชำระค่าเช่าซื้อซึ่งได้ดำเนินการแจ้งให้เกษตรกรมาปรับเปลี่ยนเป็นสัญญาเช่าและบอกยกเลิกสัญญาเช่าซื้อกรณีไม่ชำระ 2 งวดติดต่อกัน และปัญหาความไม่พร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งถนนและแหล่งน้ำ
ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ตำบลเสมา อำเภอสูงเนิน เพื่อรับฟังปัญหาร่วมกับผู้แทน เครือข่ายสภาประชาชนอีสาน (สอส.) และสภาประชาชน 4 ภาค (นายประพาส โงกสูงเนิน) พร้อมสมาชิก และพื้นที่จังหวัดลพบุรี ตำบลดงพลับ โดยมีผู้แทนเครือข่าย (นายสำเริง แหวนเพ็ชร) ปลัดอำเภอบ้านหมี่ นายก อบต.บางกระพี้ดงพลับ กำนันตำบลดงพลับ เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสมาชิกเครือข่าย สรุปผล ดังนี้
1. ด้านการจัดที่ดิน ขอให้ ส.ป.ก. จัดที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย รายละ 1 ไร่ พร้อมบ่อน้ำในแปลง และที่ดินส่วนที่เหลือจัดที่ดินลักษณะแปลงรวมตามรูปแบบแบบ คทช. ทั้งนี้ ต้องไม่กระทบเกษตรกรที่ดำเนินการจัดที่ดินตามมติ ครม. ตามบัญชีรายชื่อ 1,889 ราย และเข้าทำประโยชน์แล้ว
2. โครงสร้างพื้นฐาน ขอพัฒนาแหล่งน้ำใช้เพื่อการเกษตรและบริโภค รวมทั้งระบบกระจายน้ำจากสระใหญ่
3. ประเด็นหนี้ค่าเช่าซื้อที่ดิน ขอปรับโครงสร้างหนี้ตามแนวทางสหกรณ์ เช่นเดียวกับรูปแบบ คทช.
ส่วนพื้นที่ตำบลดอนดึง จังหวัดลพบุรี โดยผู้แทนกลุ่ม (นางเสาวลักษณ์ ศรีสมุทร) ชี้แจงปัญหาในพื้นที่ที่รับผิดชอบ ดังนี้
1. ปัญหากรณีเกษตรกรสลับแปลงระหว่างจังหวัดนครราชสีมากับจังหวัดลพบุรี
2. ขอให้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ถนน แหล่งน้ำ อุปโภคบริโภค
ทั้งนี้ ที่ปรึกษา รมว.ว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เสนอแนะให้ ส.ป.ก.ลพบุรี ตรวจสอบข้อเท็จจริงรายแปลงอีกครั้ง หรือแต่งตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัด และนำเสนอคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของเครือข่ายประชาชนอีสาน (สอส.) และสภาประชาชน 4 ภาค พิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้องต่อไป
ภาพ/ข่าว : สำนักจัดการปฏิรูปที่ดิน