กันยายน 19, 2566 | บทความ
รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่บ้านหนองพลับ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2514 ขณะดำรงตำแหน่ง รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน
องค์พระประมุขของชาติกับการปฏิรูปที่ดิน
โดย ศ.ดร.ไชยยงค์ ชูชาติ 8 กันยายน 2519
ด้วยพระปรีชาญาณอันสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเห็นกาลไกลในอนาคตว่านับวันที่ราษฎร ชาวไร่-ชาวนา อันเป็น พสกนิกรของพระองค์จะไม่มีที่ทำกินมากยิ่งขึ้นและด้วยความยากจนของเขาเหล่านี้ พวกที่เคยมีที่ดินก็จะต้องสูญเสียกรรมสิทธิ์ให้แก่เจ้าของกลายเป็นผู้เช่าหรือไร้ที่ทำกินมากขึ้น บางคนจะต้องรับจ้างทำนาทำไร่ บางคนก็เข้าบุกรุกป่าสงวนเพื่อแผ้วถางเป็นที่ทำมาหากิน บางคนอพยพเข้ามาหางานทำในเมืองซึ่งหาได้บ้างไม่ได้บ้าง และจะก่อให้เกิดความแออัดและปัญหาอื่น ๆ ตามมาอีก สภาพการณ์ดังกล่าวได้ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงวิตกและห่วงใยในสภาพการณ์อันเลวร้ายของบุคคลเหล่านี้เป็นอย่างยิ่ง
ด้วยเหตุดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงดำริที่ช่วยเหลือราษฎรที่ยากจนไม่มีที่ดินให้มีที่ดินทำกินตลอดไปเท่าที่พระองค์จะทรงริเริ่มเป็นตัวอย่างให้ได้ ดังนั้นโครงการจัดหาและพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์จึงเกิดขึ้นเพื่อให้ชาวนาชาวไร่ที่ยากจน ไม่มีที่ดินทำกินได้มีที่ดินทำกินต่อไป โครงการนี้เป็นโครงการสมบูรณ์แบบที่มีการทดลองการปลูกพืช-เลี้ยงสัตว์ การวางแผนผัง การจัดที่ดิน การบำรุงรักษา การพัฒนาแหล่งน้ำ ทางลำเลียง การรวมกลุ่มจัดตั้งสหกรณ์การเกษตรเพื่อการผลิต การจำหน่าย การส่งเสริมเกษตร การพัฒนาอาชีพ สินเชื่อ ฯลฯ ตามความจำเป็นของเกษตรผู้ยากไร้ ตลอดจนการป้องกันมิให้ที่ดิน ต้องหลุดเป็นกรรมสิทธิ์แก่บุคคลอื่น รวมทั้งการฝึกอบรมให้สมาชิกของหมู่บ้าน สหกรณ์เหล่านี้รู้จักช่วยตัวเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อนำไปสู่ความมั่งคั่งสมบูรณ์ และมั่นคงในทางเศรษฐกิจและสังคมของชาวชนบทชั่วกาลนาน
โครงการจัดและพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์นี้ได้ทรงริเริ่มเป็นแห่งแรก เมื่อ พ.ศ.2507 ที่บริเวณหุบกะพง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งมีชื่อว่า โครงการพัฒนาชนบทหุบกะพง แห่งที่สองทรงจัดขึ้นที่ดอนขุนห้วยในอำเภอและจังหวัดเดียวกัน แห่งที่สามที่ตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อ พ.ศ.2513 แห่งที่สี่ที่หมู่บ้านทุ่งลุยลาย อำเภอดอนสาร จังหวัดชัยภูมิ และ แห่งที่ห้าที่ตำบลอ่อนหลวย อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ฯลฯ เป็นต้น โครงการต่างๆ เหล่านี้จึงเป็นแบบฉบับที่รัฐบาลได้นำมาเป็นหลักการในการดำเนินการปฏิรูปที่ดินในปัจจุบัน จึงทำให้ชาวนาชาวไร่ผู้ยากไร้ พสกนิกรชาวไทยทั้งมวล ตลอดจนรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่างซาบซึ้งและประทับใจในคุณค่า และพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมเป็นอย่างยิ่ง
ในด้านรัฐบาลนั้นเล่า เพื่อเป็นการสนองตอบพระราชประสงค์ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในอันที่จะปลดเปลื้องความทุกข์ยากของชาวนา ชาวไร่ให้หมดสิ้นไปโดยไม่ชักช้า ดังนั้น รัฐบาลของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีสัญญา ธรรมศักดิ์ จึงดำเนินการเสนอกฎหมายปฏิรูปที่ดินแก่สภานิติบัญญัติแห่งชาติใน พ.ศ.2517 ซึ่งก็ได้รับความเห็นชอบจากสภาดังกล่าว กฎหมายฉบับนี้ได้ดำเนินการยกร่างเสนอคณะรัฐมนตรี และให้สภานิติบัญญัติพิจารณาซึ่งก็ได้รับการเห็นชอบเมื่อ วันที่ 17 มกราคม พ.ศ.2518 (ดร.เถลิง ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองปลัดกระทรวง เกษตรและสหกรณ์ปัจจุบัน ซึ่งอดีตเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในสมัยนั้นได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงให้กฎหมายปฏิรูปที่ดินฉบับนี้คลอดออกมามีผลใช้บังคับ) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2518 พระราชบัญญัตินี้ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาฉบับ พิเศษ เล่มที่ 92 ลงวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ.2518 จึงมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม พ.ศ.2518 เป็นต้นไป นับได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็น นักปฏิรูปที่ดินของประเทศไทยพระองค์แรกที่มีพระอัจฉริยภาพที่ทรงคุณลักษณะแห่งความเป็นผู้นำอย่างสูงสุด
ยิ่งไปกว่านั้น ทันทีที่พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 ประกาศใช้บังคับ ในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกันนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงให้การสนับสนุนแก่โครงการปฏิรูปที่ดินของชาติอย่างเต็มพระราชหฤทัยยิ่งด้วยการพระราชทานที่ดินอันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่เป็นไร่นาอยู่ทั้งหมดใน 8 จังหวัด เนื้อที่ 40,000 กว่าไร่ ให้แก่รัฐบาลนำไปดำเนินการปฏิรูป ที่ดินให้แก่ชาวไร่ชาวนาผู้ยากจนของพระองค์ให้มีที่ดินทำกินอยู่เย็นเป็นสุขตลอดไป นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปเป็นอันว่าที่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นไร่เป็นนา ก็คงจะไม่มีเหลืออยู่อีก ซึ่งพระมหากรุณาธิคุณครั้งนี้จึงเป็นการตัดสินพระทัยอันกล้าหาญเด็ดเดี่ยว และแน่วแน่ในอุดมการณ์ขององค์พระประมุขของชาวไทย ยาก ที่จะมีผู้ใดเสมอเหมือน
บรรดานักการเมือง พ่อค้า เจ้าของที่ดิน ฯลฯ ตลอดจนผู้ต้องคุมขัง ซึ่งได้บริจาคที่ดินเพื่อการปฏิรูปที่ดิน ต่างปลื้มปิติในพระมหากรุณาธิคุณครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง ธารน้ำใจไทยของท่านเหล่านี้ไม่น้อยกว่า 40 ราย ต่างหลั่งไหลบริจาคที่ดินตามรอยยุคลบาทอีก กว่า 4,000 ไร่ และเชื่อว่าคงจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะได้ดำเนินการเป็นผลดีเป็นที่ประจักษ์ แก่มหาชนมากยิ่งขึ้น
หลักการต่าง ๆ ในโครงการสมบูรณ์แบบของการจัดและพัฒนาที่ดิน ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงวางเอาไว้นั้น ได้เป็นแบบฉบับของการปฏิรูปที่ดินของไทยในปัจจุบัน
เพื่อที่จะสนองพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเรื่องการปฏิรูปที่ดินนี้ ทั้งรัฐบาลชุดที่แล้วและปัจจุบันต่างได้ให้ความร่วมมือและสนับสนุนทั้งในด้านงบประมาณและกำลังคนให้แก่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินได้ดำเนินการให้ลุล่วงไปได้ด้วยดีตลอดมา เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2518 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.คึก ฤทธิ์ ปราโมช และคณะประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เลขาธิการ และรองเลขาธิการ ปลัดกระทรวง และรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เลขาธิการ และรองเลขาธิการ ส.ป.ก.เข้าเฝ้ารับฟังพระราชดำริ ซึ่ง พระองค์ได้ขอให้รัฐบาลดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาไม่ช้านัก ดังนั้น สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจึงได้ทำการสำรวจที่ดิน สำรวจดินและน้ำ ตลอดจนศึกษาถึงสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของชาวนาชาวไร่ที่ไม่มีที่ทำกิน และที่ต้องเช่านาผู้อื่นทำเป็นอันดับแรกและได้ทำการวางแผนขั้นตอนการปฏิบัติงาน ตลอดจนการประกาศเขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อดำเนินการปฏิรูปที่ดินตามแผนและขั้น ตอนที่ได้วางไว้ในขั้นต่อไป
รัฐบาลชุดปัจจุบันของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้สานงานต่อจากรัฐบาลชุดที่แล้วให้เห็นจริงมากยิ่งขึ้นด้วยการสนับสนุนให้งบประมาณสำหรับการจัดซื้อที่ดินเพิ่มขึ้น และถือว่าเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ฯพณฯ รองนายกรัฐมนตรีเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจน ฯพณฯ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ไกรสร ตันติพงศ์ ก็ได้เป็นกำลังสำคัญในการจัดหางบประมาณและกำลังเจ้าหน้าที่เพิ่มเติมให้แก่ ส.ป.ก. มากขึ้น ตลอดจนการขอความร่วมมือจากกรมกองที่ร่วมปฏิบัติงานให้โครงการปฏิรูปที่ดินดำเนินไปได้โดยเรียบร้อยการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายปฏิรูปที่ดินให้มีความคล่องตัวและสมบูรณ์สามารถปฏิบัติงานได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ตลอดจนอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. ก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากรัฐบาลชุดนี้ เป็นที่คาดหมายได้ว่าในปี 2520 นี้ ส.ป.ก. จะได้รับงบประมาณอย่างน้อย 542 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้จะเป็นงบซื้อที่ดินไม่น้อยกว่า 460 ล้านบาท สำหรับอัตรากำลังนั้นก็คงจะได้เพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 500 กว่าอัตราขึ้นไป ซึ่งเดิมมีอยู่แล้ว 200 กว่าอัตรา
การประกาศเขตปฏิรูปที่ดินในอำเภอต่าง ๆ ของทั้ง 4 จังหวัด ที่ได้ ประกาศไปแล้ว มีดังนี้
-จังหวัดนครนายก ได้แก่ อำเภอบ้านนา อำเภอองครักษ์
-จังหวัดปทุมธานี ได้แก่ อำเภอคลองหลวง อำเภอหนองเสือ
-จังหวัดอยุธยา ได้แก่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภอบางไทร อำเภอวังน้อย อำเภอลาดบัวหลวง
-จังหวัดปราจีนบุรี ได้แก่ อำเภอกบินทร์บุรี อำเภอบ้านสร้าง และกิ่งอ้าเภอนาดี
งานสำรวจรังวัดที่ดินตลอดจนการสำรวจดิน ระดับพื้นที่ การสำรวจ และจัดทำแผนที่ดินรายแปลง การแจ้งกรรมสิทธิ์ การใช้ ฯลฯ ได้ดำเนินการอย่าง เร่งรีบ และได้กระทำเสร็จเป็นขั้นตอนแรก ซึ่ง ส.ป.ก.จะจัดสรรที่ดินให้ชาวนา ชาวไร่ ที่เป็นผู้เช่าใน 4 จังหวัดภาคกลาง และจัดสรรให้แก่ผู้ไร้ที่ทำกินในภาคอีสาน อีก 2 จังหวัด ซึ่งได้แก่อุดรธานีและนครพนม ได้มีที่ทำกินในเขตอำเภอที่ประกาศ เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน อย่างไรก็ตาม ส.ป.ก. จำเป็นจะต้องดำเนินการขั้นที่สองคือ การปรับปรุงพัฒนาที่ดินตลอดจนการพัฒนาอาชีพ การจัดตั้งสหกรณ์ปฏิรูปที่ดิน ในขั้นต่อไป ขณะนี้ ส.ป.ก. กำลังดำเนินการชี้แจงให้ชาวนาชาวไร่ทราบว่า เกษตรกรเหล่านี้จะได้รับการปรับปรุงทรัพยากรของตน การแก้ไขภาวะเศรษฐกิจ และสังคมให้ดีขึ้นอย่างไร เกษตรกรดังกล่าวจะเห็นดีเห็นชอบด้วยอย่างไรหรือไม่
ในปี 2520 นี้ ส.ป.ก. ได้วางแผนประกาศเขตปฏิรูปที่ดินเพิ่มเติมทั้งใน ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ เพิ่ม ขึ้นอีกหลายสิบจังหวัด ทั้งนี้ เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลที่ตั้งเป้าหมายว่าจะจัด ที่ดินทำกินให้เกษตรกรอย่างน้อยหนึ่งล้านไร่ ในจำนวน 5 หมื่นครอบครัว ส.ป.ก. จะใช้ที่ดินทรัพย์สินที่ทรงพระราชทานที่ดินที่มีผู้บริจาคที่ดินที่ ส.ป.ก. จะต้องซื้อจากเอกชนตามกฎหมายปฏิรูปที่ดิน และที่ดินของรัฐมาเร่งดำเนินการโดยทำเป็นโครงการสมบูรณ์แบบบางส่วน บางส่วนจะจัดให้ชาวไร่ได้เข้าอยู่อาศัยมีที่ทำกินตามขั้นตอนแรกไปก่อน เมื่อการออกแบบวางแผนปรับปรุงแล้วจะได้ดำเนินการปรับปรุงพัฒนาให้สมบูรณ์แบบในขั้นต่อไป
งานปฏิรูปที่ดินเป็นงานที่จะต้องปฏิบัติด้วยความละเอียดและซับซ้อนการแบ่งขั้นตอนการปฏิบัติงานและการควบคุม-ประสานงาน จึงจำเป็นจะต้องดำเนินไปตามแผนที่วางไว้ มิฉะนั้น โครงการปฏิรูปที่ดินจะไม่ประสพผลสำเร็จ งานนี้จึงต้องใช้เวลาและกำลังคนเป็นอย่างมากพร้อมไปกับกำลังเงินอย่างพอเพียง ปัญหาเหล่านี้ทาง ส.ป.ก. ได้หาวิธีแก้ไขโดยขอความร่วมมือกับกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ ได้จัดแบ่งการปฏิบัติงานไปตามหน้าที่และตามขั้นตอน กับทั้งให้กรมกองที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรที่ดินรับงานไปว่าจะดำเนินการช่วยจัดสรรที่ดินตามโครงการนี้ได้จำนวนเท่าใด งานที่เหลือ ส.ป.ก. จำเป็นต้องดำเนินการด้วยตนเอง กับขออนุญาติคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินให้บริษัทเอกชนรับเหมาให้ออกแบบก่อสร้าง และควบคุมให้การก่อสร้างดำเนินไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ วิธีนี้เห็นจะเป็นวิธีเดียวที่พอจะนำมาใช้ได้ผลในการดำเนินงานปฏิรูปที่ดินตามเวลาที่ต้องการ
บรรดาชาวนาชาวไร่และประชาชนทั้งหลาย จึงต่างตระหนักในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยทั่วหน้ากัน ต่างปลื้มปิติในพระราชประสงค์ของพระองค์ที่มีแต่พสกนิกรไทยเป็นล้นพ้น นับได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ของการปฏิรูปที่ดินในประเทศไทย ซึ่งจะต้องจารึกเอาไว้อย่างมิรู้ลืมตลอดไป พระมหากรุณาธิคุณครั้งนี้จะเป็นตัวอย่างที่ดียิ่งแก่บรรดาเจ้าของที่ดินทั้งหลายต่อไปอีกด้วย
ขอให้ท่านที่เคารพทุกท่านจงร่วมมือร่วมใจมีเจตจำนงอันแน่วแน่ ที่จะช่วยกันปลดปล่อยความทุกข์ยากและความยากจนของเกษตรกรให้หลุดพ้นไปเสียโดยเร็ว สังคมไทยจะได้เป็นสังคมที่มีแต่สันติสุขและมั่งคั่งสมบูรณ์ อยู่ร่วมกันด้วยความกลมเกลียวสามัคคีชั่วนิจนิรันดร
8 กันยายน 2519