image banner

Agricutural Land Reform Office

ประวัติความเป็นมา

มีนาคม 29, 2559 | ภาพข่าว

ในหลวงกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
              พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงดำเนินการปฏิรูปที่ดินขึ้นก่อนที่พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะประกาศออกใช้ประมาณ 6-7 ปี หากแต่ไม่ได้เรียกชื่อว่าเป็นการปฏิรูปที่ดินเท่านั้น ทั้งนี้เพราะพระองค์ทรงตระหนักดีว่ายังมีราษฎรที่ยากจนเป็นจำนวนมากที่ยังมิได้มีที่ทำกินเป็นของตนเอง ดังนั้นแทนที่จะพระราชทานพระบรมราโชบายให้แก่ผู้บริหารประเทศให้ทำการปฏิรูปที่ดินโดยทันที ซึ่งอาจจะกระทำไม่ได้หรือไม่ได้รับผลสำเร็จที่ดีพอสมควร จึงได้ทรงดำเนินการทำโครงการปฏิรูปที่ดินตัวอย่างของพระองค์เอง เพื่อเป็นการทดลองเริ่มต้นดูว่า จะได้รับผลประการใดหรือควรจะแก้ไขข้อบกพร่องประการใด หากโครงการเหล่านั้นได้รับผลสำเร็จจะเป็นตัวอย่างแก่รัฐบาล เพื่อนำไปวางเป็นนโยบายในการให้ความช่วยเหลือราษฎรต่อไป
พระบรมราโชบายเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดิน
1) การแบ่งสรรที่ดินให้แก่เกษตรกรในชั้นต้น ควรให้เป็นไปตามเนื้อที่ที่เกษตรกรถือครองอยู่เดิมให้มากที่สุดไม่ว่าจะโดยเป็นเจ้าของที่ดินเองหรือโดยการเช่า ทั้งนี้ภายในขอบเขตที่พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 กำหนดไว้พื้นที่อาจจะลดลงไปบ้างตามภูมิศาสตร์ของท้องถิ่นนั้นๆ
2) การจัดตั้งชุมชนที่อยู่อาศัยควรให้เป็นไปตามความต้องการของเกษตรกรและให้สอดคล้องกับสภาพเดิมของท้องถิ่นนั้นๆให้มากที่สุด และจัดชุมชนให้อยู่เป็นกลุ่มก้อนเพื่อความปลอดภัยและทำให้การลงทุนในด้านการจัดสาธารณูปการ เช่นน้ำสะอาด ไฟฟ้า ฯลฯ ถูกลงด้วย
3) จัดระบบการรวมกลุ่มในระดับหมู่บ้านรวมกันเป็นสหกรณ์ในเขตปฏิรูปที่ดินและเชื่อมโยงไปถึงสหกรณ์ในเมืองใหญ่ๆเพื่อให้สหกรณ์สามารถดำเนินธุรกิจเพื่อประโยชน์ของสมาชิกได้อย่างกว้างขวางโดยแท้จริง
4) การพัฒนาด้านต่าง ๆ รวมทั้งการจัดระบบชลประทาน คมนาคมและบริการสาธารณูปการต่าง ๆ เมื่อดำเนินการจัดหาให้แล้วต่อไปก็ให้สหกรณ์รับช่วงไปดำเนินการต่อ และจัดการบำรุงรักษาต่อไปโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลค่อยๆถอนตัวออกได้เมื่อสหกรณ์มีประสิทธิภาพพอเพียงที่จะรับช่วงต่อไป
5) ในระยะแรกจะต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่ที่มีความสามารถและเสียสละอยู่ประจำเพื่อให้คำแนะนำ ส่งเสริมแก่สหกรณ์โดยใกล้ชิดและจัดให้มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากส่วนกลางออกไปตรวจการดูแลเยี่ยมเยียนและให้คำแนะนำเป็นการใช้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่โดยสม่ำเสมอ
6) การจัดที่ดินทำกินให้เกษตรกรจะต้องคำนึงถึงการขยายตัวของประชากรในท้องถิ่นนั้นในอนาคตด้วยดังนั้นป่าไม้ชุมชนที่ดำริจะจัดสร้างขึ้นอาจใช้เป็นที่สำรองสำหรับการทำมาหากินในอนาคตได้ด้วย
7) การปฏิรูปที่ดินในแต่ละท้องที่จะต้องเร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็วในระยะเวลาประมาณ 2 -3 ปีเพื่อให้เกษตรกรเห็นผลได้โดยไม่ชักช้า
8) สำหรับเงินชดเชยค่าเช่าที่ดินที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานซึ่งรัฐบาลจะต้องทูลเกล้าฯ ถวายตามกฎหมายของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้นจะพระราชทานเป็นเงินหมุนเวียนสำหรับการดำเนินงานของสหกรณ์ในเขตปฏิรูปที่ดินดังกล่าว โดยจะได้ทรงแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาสำหรับบริหารเงินทุนนี้ขึ้นคณะหนึ่ง
9) มีพระราชประสงค์ให้ผู้เช่าที่ดินของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อยู่เดิมได้ทำกินในที่ดินนั้นต่อไปชั่วลูกชั่วหลาน ตราบที่ยังยึดถืออาชีพเกษตรกรรมอยู่แต่จะไม่มีสิทธิ์ในที่ดินนั้น

โฉนดฉบับแรกของไทย
              พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าหลวงเกษตรพร้อมด้วยเจ้าหน้าพนักงานแผนที่ เริ่มออกเดินทางสำรวจที่ดินของประเทศเป็นครั้งแรก และดำเนินการรังวัดหมายเลขเขตที่ดินตามประกาศกระแสพระบรมราชโองการ บริเวณบ้านพลับ ตำบลเกาะเกิด อำเภอบางประอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นปฐมฤษษ์ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ร.ศ. 120 (พ.ศ. 2444)
              เนื่องจากยังไม่มีบทกฎหมายเป็นหลักในการออกโฉนดที่ดิน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ออกประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ 15 กันยายน ร.ศ. 120 (พ.ศ. 2444) โดยวางระเบียบการเรื่องโฉนดที่ดินไว้โดยแน่ชัดประกาศพระบรมราชโองการฉบับนี้ ถือได้ว่าเป็นกฎหมายฉบับแรกที่ว่าด้วยการจัดทำทะเบียนที่ดินและสิทธิของผู้เป็นเจ้าของที่ดิน โดยมีแผนที่ระวางแสดงรายละเอียดชี้ได้ว่าที่ดินที่จะดำเนินการออกโฉนดแต่ละแปลงตั้งอยู่บริเวณใด เนื้อที่เท่าใด ใครเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินในทะเบียน 
              เมื่อดำเนินการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินในท้องที่มณฑลกรุงเก่าเสร็จสิ้นแล้ว จึงได้ตั้งหอทะเบียนมณฑลกรุงเก่าขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทยที่สภาคารราชประยูรในพระราชวังบางปะอิน เมื่อวันที่ 20 กันยายน ร.ศ. 120 (พ.ศ. 2444) แต่ต่อมาได้จัดตั้งกรมทะเบียนที่ดิน (กรมที่ดินปัจจุบัน) ขึ้นเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 120 (พ.ศ. 2444)
              ในการมอบโฉนดที่ดินในครั้งแรกนั้น สืบเนื่องจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประทับแรมอยู่ ณ พระราชวังบางปะอิน พระยาประชาชีพบริบาล (ผึ่ง ชูโต) ข้าหลวงพิเศษจัดที่ดิน ได้นำโฉนดที่ดินในท้องที่ตำบลบ้านแป้งของพระคลังข้างที่ 2 ฉบับ และของราษฎร 3 ฉบับ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่เจ้าของที่ดินนับเป็นปฐมฤกษ์ โฉนดที่ดินฉบับแรกของประเทศไทยเป็นโฉนดที่ดิน ซึ่งมีพระนาม "สมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์" ทรงถือกรรมสิทธิ์ เป็นโฉนดเลขที่ 1 หน้า 1 เลขที่ดิน 117 ระวาง 17 ต 3 อ ตำบลบ้านแป้ง อำเภอพระราชวัง แขวงเมืองกรุงเก่า (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) เนื้อที่ 91ไร่ 1 งาน 52 ตารางวา
              นอกจากนี้ ยังพบหลักฐานเกี่ยวกับที่ดิน คือหมุดหลักฐานศูนย์กำเนิดหมุดแรกในประเทศไทย สร้างขึ้นในสมัยการออกโฉนดที่ดินฉบับแรก และถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้การออกโฉนดที่ดินแต่ละแปลงเป็นไปด้วยความถูกต้อง โดยหมุดหลักฐานดังกล่าว ตั้งอยู่กลางทุ่งนาในโฉนดที่ดินเลขที่ 875 หมู่ที่ 4 ตำบลท่าต่อ อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งผู้เป็นเจ้าของชื่อนางชิ้น เฉลยโชติ กับพวสกรวม 4 คน โดยสภาพหมุดหลักฐานเป็นหินแกรนนิตแท่นมีการสลบักข้อความทั้งสี่ด้าน บอกถึงความสำคัญของหมุดฐาน และมีร.ศ. ที่จัดสร้างไว้เป็นสำคัญ ปัจจุบันหมุดหลักฐานดังกล่าว มิได้นำมาใช้เป็นหมุดหลักฐานเพื่อวางโครงแผนที่ เนื่องจากกรมที่ดินได้เปลี่ยนแปลงระบบการออกโฉนดจากระบบศูนย์กำเนิดมาเป็นระบบพิกัดฉากสากล (UTM) ที่นิยมใช้กันทั่วโลก

ความเป็นมาของผืนดินพระราชทาน

              สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ตราพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตร กรรมออกใช้ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 และทันทีที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศใช้บังคับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงให้การสนับสนุนให้โครงการปฏิรูปที่ดินดำเนินไปสัมฤทธิ์ผล พระองค์จึงได้พระราชทานที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จำนวน 51,967 ไร่ 95 ตารางวา ในพื้นที่ดิน 8 จังหวัด คือจังหวัดปทุมธานี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดนครนายก จังหวัดนครปฐม จังหวัดราชบุรี จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดสระบุรีและจังหวัดฉะเชิงเทรา ให้กับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นประเดิมเริ่มแรก พระมหากรุณาธิคุณที่ได้พระราชทานที่ดินในครั้งนั้นยังเป็นการหล่อหลอมให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ มีความเข้าใจในนโยบายการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมของรัฐบาลตรงกัน และทำให้เกิดผลดีต่อการดำเนินการปฏิรูปที่ดิน
               ต่อมา สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้กันเนื้อที่บางส่วนออกเนื่องจากที่ดินไม่ได้ใช้เพื่อการเกษตร และมีภาระผูกพันกับหน่วยงานราชการอื่น จึงคงเหลือพื้นที่ที่จะดำเนินการการปฏิรูปที่ดินได้ 44,365 - 2 - 0.46 ไร่ อยู่ในท้องที่ 5 จังหวัด คือจังหวัดฉะเชิงเทรา 14,633-1-87 ไร่ จังหวัดนครปฐม 1,009-2-53ไร่ จังหวัดนครนายก 3,542-3-49 ไร่ จังหวัดปทุมธานี 14,015-1-28.46 ไร่ และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 11,164-0-83 ไร่ จัดเกษตรกรเข้าทำประโยชน์จำนวน 3,251ราย รวมเนื้อที่ 40,319-77.46 ไร่ ส่วนพื้นที่อีกส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่เพื่อการสาธารณูปโภค เนื้อที่ 3,618-0-19 ไร่
               ต่อมาในปี พ.ศ. 2518 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดชได้ทรงมีพระกรุณาธิคุณพระราชทานที่ดินอันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้แก่สำนักงานการปฏิรูปทิ่ดินเพื่อเกษตรกรรมจำนวน 51,967 ไร่ 95 ตารางวา เพื่อนำไปดำเนินการตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ที่ดินพระราชทานดังกล่าว มีที่ดินที่ออกโฉนดเป็นฉบับแรกของประเทศไทยรวมอยู่ด้วย ส.ป.ก. ได้ดำเนินการจัดที่ดินและได้พัฒนาปัจจัยพื้นฐานให้กับเกษตรกรในพื้นที่พระราชทานที่ดินตามโฉนดเลขที่ 1 เนื้อที่ 91 ไร่ 1 งาน 52 ตารางวา ให้แก่เกษตรกร จำนวน 9 ราย ดังนี้
1. นายชม ก็ดีซอ เนื้อที่ 16 ไร่ 1 งาน 81 ตารางวา
2. นายเฉลียว นาชะวี เนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 95 ตารางวา
3. นางชม ฮิทวาด เนื้อที่ 8 ไร่ 3 งาน 86 ตารางวา
4. นางตีฟ๊ะ ไวยจะรา เนื้อที่ 4 ไร่ 0 งาน 66 ตารางวา
5. นายมณี เมืองฉาย เนื้อที่ 8 ไร่ 2 งาน 53 ตารางวา
6. นายสมนึก รุจิธรรม เนื้อที่ 9 ไร่ 0 งาน 10 ตารางวา
7. นายสมาน สุขพลอย เนื้อที่ 13 ไร่ 1 งาน 89 ตารางวา
8. นายพินิจ สุขสาลี เนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน 74 ตารางวา
9. นายพัทญา แย้มอยู่ เนื้อที่ 12 ไร่ 3 งาน 7 ตารางวา
เป็นที่สาธารณูปโภค ถนน และคลองชลประทาน เนื้อที่ 9 ไร่ 1 งาน 91 ตารางวา

ประวัติสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดปทุมธานี
               สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดปทุมธานี เป็นหน่วยงานราชการส่วนภูมิภาค สังกัด สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จัดตั้งขึ้น เมื่อมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินในเขตท้องที่จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2519 มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ค.ป.ก.) และคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด (คปจ) กำหนด
               สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดปทุมธานี ตั้งอยู่ เลขที่ 29/2 หมู่ 1 ต.บ้านกลาง ถนนรังสิต-ปทุมธานี อ.เมือง จ.ปทุมธานี หมายเลขโทรศัพท์ 0-2567-0796 , 567-1736 , 567-1379 หมายเลขโทรสาร 0-2567-0796 E-mail : Pathumtani @ alro.go.th

tagClouds
latest