ฉบับวันที่ : 15 เม.ย. 2556 บ่าย รายละเอียด : การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ในปี 2558 ทุกประเทศสมาชิกที่มีการผลิตสินค้าเกษตรจะต้องใช้มาตรฐานเดียวกันทั้งหมด ฉะนั้น กรมวิชาการเกษตร ในฐานะเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลเรื่องมาตรฐานสินค้าพืช และกำกับดูแลตามพระราชบัญญัติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้มีการเตรียมความพร้อมด้วยการทบทวนกฎระเบียบการตรวจรับรองมาตรฐานสินค้าพืช ทบทวนกฎหมายต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานของอาเซียน ที่สำคัญคือเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับเกษตรกรและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทยมากที่สุด นายวัชรินทร์ อุปนิสากร ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบตรวจรับรองและมาตรฐานการผลิต สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแรก ๆ ในอาเซียนที่ทำการผลิตสินค้าเกษตรให้ปลอดภัยจากศัตรูพืช สารเคมีและมีคุณภาพ โดยมาตรฐานที่กรมวิชาการเกษตร ตรวจและออกใบรับรองมาตรฐานที่เรียกว่า Q GAP ให้แก่เกษตรกรนั้นถือว่ามีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และสามารถเทียบเคียงกับมาตรฐานอาเซียน หรือ ASEAN GAP ได้เกือบ 100% โดยเฉพาะข้อกำหนดให้ประเทศสมาชิกดำเนินการเทียบเคียงมาตรฐานอาเซียนในด้านมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหาร (Food Safety) ซึ่งประเทศไทยดำเนินการเรียบร้อยแล้ว แต่ยังมีข้อกำหนดย่อยบางด้านที่ยังไม่ใกล้เคียง เช่น การจัดการสิ่งแวดล้อม ซึ่งพยายามปรับปรุงให้ได้มาตรฐานเทียบเคียงอาเซียนต่อไป อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่ามาตรฐาน GAP ของไทยมีความได้เปรียบประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้งในเรื่องของการจัดการคุณภาพ การจัดการแมลงศัตรูพืชหรือสุขอนามัยพืชที่จะติดไปกับสินค้าส่งออกนั้นเราทำได้ดีกว่าอาเซียนอยู่แล้ว เพราะเราส่งออกสินค้าไปยังประเทศที่มีการดูแลความปลอดภัยสินค้าเข้มงวดทั้งสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา แต่เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมการเข้าสู่เออีซี กรมวิชาการเกษตรได้ปรับยุทธวิธีในการดำเนินการตรวจรับรองมาตรฐาน GAP ของประเทศไทยให้เป็นมาตรฐานกลางของอาเซียน รวมถึงปรับระเบียบมาตรฐาน GAP ใหม่ โดยเฉพาะประเด็นการขยายอายุใบรับรองมาตรฐาน Q GAP สำหรับพืชผักอายุสั้นจาก 1 ปี เป็น 2 ปี ส่วนผลไม้จาก 2 ปี เป็น 3 ปี เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันในอาเซียนได้มากขึ้นด้วย สำหรับเกษตรกรที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน Q GAP จากกรมวิชาการเกษตรแล้ว ยังคงใช้ได้อยู่ ซึ่งขณะนี้มีเกษตรกรสมัครเข้าร่วมระบบมาตรฐาน อยู่ที่ 196,000 ฟาร์ม/แปลง ผ่านการรับรองมาตรฐาน 159,000 ฟาร์ม/แปลง ดังนั้นจึงถือว่าใบ Q GAP ที่ยังมีอายุใช้การได้ประมาณ 81% ครอบคลุมชนิดพืชผักที่รับรองอยู่ 169 ชนิด ซึ่งจะมีผลจนกระทั่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจติดตามหรือต่ออายุใบรับรอง จะมีการนำมาตรฐาน GAP อาเซียนไปเป็นตัวชี้วัด คาดว่าจะส่งผลให้มีเกษตรกรบางส่วนไม่ผ่านมาตรฐานใหม่ ต้องไปปรับปรุงแล้วกลับมาสมัครอีกครั้ง แต่ถ้ามองในด้านดีคือเกษตรกรจะมีมาตรฐานเพิ่มขึ้นและมีโอกาสในการแข่งขันมากขึ้นด้วย ซึ่งไม่ใช่แค่ในอาเซียนเท่านั้น เพราะตอนนี้เพิ่มขึ้นเป็นอาเซียนบวก 6 โดยบวก 3 แรกคือสาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี ส่วนที่เพิ่มขึ้นอีก 3 ได้แก่ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เกษตรกรที่เข้าสู่ระบบมาตรฐาน GAP ในปัจจุบันยังมีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนครัวเรือนเกษตรกรทั้งประเทศ สาเหตุหลักคือส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยที่ไม่มีแผนการผลิตสินค้าที่ชัดเจนว่าจะผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศหรือส่งออก ไม่มีการจดบันทึกข้อมูลฟาร์ม จึงไม่ค่อยสนใจเรื่องระบบมาตรฐานมากนัก แต่ในอนาคตอันใกล้แม้ว่าการผลิตเพื่อขายตลาดในประเทศก็ต้องมีระบบมาตรฐาน GAP รับรอง เพราะตลาดขายส่งสินค้าเกษตร เช่น ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมืองหรือตลาดค้าส่งรอบปริมณฑลมีมาตรการว่าถ้าเกษตรกรผลิตสินค้าแล้วไม่มีการรับรองมาตรฐาน GAP จะไม่ให้ขายในตลาด ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรเห็นความสำคัญของการผลิตสินค้าที่มีมาตรฐาน ปลอดภัย และเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคนั่นเอง สำหรับเกษตรกรท่านใดสนใจจะเข้าสู่ระบบการผลิตพืชเพื่อให้ได้มาตรฐาน GAP สามารถสมัครได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัด ซึ่งเป็นหน่วยงานแรกในการเข้าไปถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกรและประเมินผลในเบื้องต้น เพื่อส่งต่อมายังกรมวิชาการเกษตรเข้าไปทำการตรวจสอบและออกใบรับรองให้ ซึ่งการเข้าสู่มาตรฐาน GAP นั้น ผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นก็ตกอยู่กับเกษตรกร รวมไปถึงเศรษฐกิจของประเทศด้วย.