ฉบับวันที่ : 26 ส.ค. 2557 เช้า รายละเอียด : ใน 1 ปี ข้าวที่เหลือจากการบริโภคในครัวเรือนสามารถนำออกขายได้ประมาณ 33,000 บาท รายได้จากการขายผักประมาณ 1,600 บาท ผลไม้ที่ปลูกประมาณ 11,000 บาท เลี้ยงไก่แบบธรรมชาติในสวนขายได้ปีละประมาณ 12,000 บาท นายสมพวง รัตพันธ์ วัย 65 ปี ราษฎรบ้านโคกทุ่งล้อม ต.โคกตาล อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ เป็นเกษตรกรที่ได้รับการอบรมเกี่ยวกับการจัดทำไร่นาสวนผสม เมื่อปี พ.ศ. 2535 ที่ อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นโครงการของจังหวัดศรีสะเกษร่วมกับ ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ภายหลังการฝึกอบรมก็กลับมาจัดแบ่งพื้นที่ของตนเองจัดทำไร่นาสวนผสมอย่างจริงจัง โดยมีเจ้าหน้าที่จากศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริคอยให้คำแนะนำและให้ความรู้ ในการปรับปรุงพื้นที่ด้วยการปรับหน้าดิน และนำพันธุ์กล้าไม้ที่เหมาะสมกับการปลูกในพื้นที่มาสนับสนุน นายสมพวง รัตพันธ์ ได้เล่าให้กับคณะผู้สื่อข่าวในโครงการสื่ออาสาสืบสานพระราชดำริ ของสำนักงาน กปร. ที่เดินทางเข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานและความคืบหน้าในการดำเนินงานเมื่อวันก่อนว่า ในการทำไร่นาสวนผสมของตนนั้นเริ่มด้วยการจัดแบ่งพื้นที่ 10 ไร่ ออกเป็นพื้นที่นา 2.5 ไร่ เพื่อปลูกข้าวไว้กินภายในครัวเรือน ที่เหลือจึงนำออกขาย 1.5 ไร่เป็นบ่อเลี้ยงปลาเพื่อบริโภคเหลือก็จำหน่าย 4.5 ไร่ ปลูกไม้ผลจำพวกมะไฟ มะม่วง ส้มโอ กระท้อน มะนาว มะขาม กล้วย มะพร้าวน้ำหอม และที่เหลือเป็นที่อยู่อาศัยและปลูกพืชผักสวนครัว โดยในปี พ.ศ. 2538 ได้ปลูกหวายเพื่อตัดหน่อ ภายใต้ต้นไม้ผลเพิ่มเติม ปรากฏว่าปัจจุบันรายได้หลักของครอบครัวที่ได้มาจากการตัดหน่อหวายขาย ซึ่งสามารถตัดได้ทุกวันโดยมีพ่อค้ามารับซื้อถึงบ้าน ?เมื่อก่อนทำนาข้าวเพียงอย่างเดียว ก็ใช้สารเคมี แต่เมื่อมีการตรวจสุขภาพ พบว่ามีสารเคมีที่ตกค้างในเลือด อยู่ในภาวะเสี่ยงอันตราย ก็ลดการใช้สารเคมีจนร่างกายกลับเข้าสู่ปกติ และเมื่อหันมาทำการเกษตรแบบไร่นาสวนผสมด้วยการน้อมนำพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาดำเนินการ โดยยึดหลัก ปลูกกินเอง ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ก็ทำให้ชีวิตดีขึ้น มีกินมีรายได้ทุกวัน สุขภาพดีขึ้น? นายสมพวง กล่าว และจากที่ขยันอดทนและซื่อสัตย์ในชีวิตและอาชีพของตนเองด้วยการไม่เข้าหาสารเคมีมาเป็นตัวช่วยในการเพาะปลูก ชอบการแสวงหาความรู้ อาศัยกำลังจากภายในครัวเรือนในการทำการเกษตรแบบร่วมคิดร่วมทำเป็นสำคัญ ปัจจุบันเกษตรกรรายนี้ได้รับการยอมรับจากส่วนงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นเกษตรกรต้นแบบของศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และได้มีการถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์ไปยังเกษตรกรรายอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง จนได้รับรางวัลต้นแบบคนพอเพียงวิถีประชาธิปไตยจากรัฐสภาเมื่อปี พ.ศ. 2556 ที่ผ่านมา และได้รับรางวัลที่ 3 ในการประกวดไร่นาสวนผสม ระดับภาค ในปี พ.ศ. 2540 จากสำนักงานส่งเสริมการเกษตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และนับเป็นอีกหนึ่งต้นแบบของการทำการเกษตรแบบอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้วยการมุ่งเน้นเพาะปลูกพืชแบบอินทรีย์ รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียหายต่อสภาพแวดล้อมและสุขภาพของตนเองและผู้บริโภค พร้อมทั้งปลูกต้นไม้ยืนต้นเพื่อสร้างร่มเงาและบังลมให้กับพืชสวนอื่น ๆ เช่น ยางนา ตะเคียน ประดู่ พะยูง และจันทน์ผา เป็นต้น ?ใน 1 ปี ข้าวที่เหลือจากการบริโภคในครัวเรือนสามารถนำออกขายได้ประมาณ 33,000 บาท รายได้จากการขายผักประมาณ 1,600 บาท ผลไม้ที่ปลูกประมาณ 11,000 บาท เลี้ยงไก่แบบธรรมชาติในสวนขายได้ปีละประมาณ 12,000 บาท ตัดหน่อหวายขายได้ประมาณ 46,000 บาท ขายต้นไม้เพื่อการประดับสวยงามทั่วไปประมาณ 1,200 บาท รวมรายได้เฉลี่ยต่อปีประมาณ 104,800 บาท? นายสมพวง กล่าว.