ฉบับวันที่ : 3 มี.ค. 2556 เช้า รายละเอียด : การปิดซ่อมแท่นผลิตก๊าซธรรมชาติแหล่งยาดานาและเยตากุล ของเมียนมาร์ 5-14 เมษายน นี้ ได้เกิดคำถามว่า ประเทศไทยถึงจุดวิกฤติด้านพลังงานแล้วหรือ จากการขาดแคลนก๊าซนำมาผลิตไฟฟ้า ชาครีย์ บูรณกานนท์จนต้องจัดหาน้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลมาใช้ผลิตไฟฟ้าแทน กระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าหรือค่าเอฟทีที่จะปรับขึ้นไปอีก และยิ่งร้ายไปกว่านั้นอาจจะเกิดไฟฟ้าดับในบางพื้นที่สร้างความเสียหายให้กับภาคธุรกิจและประเทศชาติ นายชาครีย์ บูรณกานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน)(บมจ.) ในฐานะผู้รับหน้าที่จัดหาก๊าซ กำลังถูกจับตา ว่าจะสามารถบริหารจัดการให้ประเทศฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปได้อย่างไร และจะเป็นด่านทดสอบการแก้ปัญหาการขาดแคลนพลังงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไม่ช้านี้ +++เร่งหาก๊าซแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การหยุดส่งก๊าซของเมียนมาร์ครั้งนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นปีแรก แต่จะมีการแจ้งหยุดซ่อมบำรุงทุกปี แต่ที่ผ่านมาจะตรงกับช่วงที่ไทยมีความต้องการใช้ไฟฟ้าต่ำ หรือช่วงเทศกาลสงกรานต์และปีใหม่ ทำให้ใช้ก๊าซผลิตไฟฟ้าในปริมาณที่น้อยลงตามไปด้วย แต่ครั้งนี้ถือว่าโชคไม่ดีที่มาตรงกับช่วงความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดหรือพีกในวันที่ 5 เมษายน และประเทศมีปริมาณสำรองไฟฟ้าต่ำ หากโรงไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันเตาและดีเซลเกิดมีปัญหาขึ้นมา ก็จะกระทบกับปริมาณไฟฟ้าที่หายไปและปริมาณสำรองที่มีอยู่ไม่เพียงพอ เพราะก๊าซหายไปจากระบบถึง 1.1 พันล้านลูกบาศก์ฟุตหรือประมาณ 1 ใน 4 ของปริมาณความต้องการ การแก้ปัญหาเบื้องต้นจึงได้สั่งการให้ผู้ผลิตก๊าซในอ่าวไทย ที่ยังมีความสามารถผลิตก๊าซเข้าระบบเพิ่ม เพื่อชดเชยก๊าซจากเมียนมาร์ที่หายไป ขณะเดียวกันได้ขอร้องโรงกลั่นน้ำมันที่มีแผนหยุดซ่อมบำรุงในช่วงดังกล่าวให้เลื่อนออกไปก่อน จนกว่าสถานการณ์ก๊าซจะคลี่คลาย "ส่วนโรงไฟฟ้าที่เปลี่ยนเชื้อเพลิงมาเป็นน้ำมันเตาและดีเซล ปตท. มีหน้าที่เติมเต็มน้ำมันในถังสำรองไว้ตลอด เพื่อให้มั่นใจว่าแม้จะไม่มีก๊าซแต่ก็ยังสามารถผลิตไฟฟ้าได้ อย่างไรก็ตามหากแหล่งยาดานาสามารถซ่อมเสร็จตามแผนก็จะมีก๊าซเข้าระบบเร็ว แต่ถ้าช้ากว่าแผน ประชาชนยังมั่นใจได้ว่า จะมีปริมาณน้ำมันสำรองไว้อย่างแน่นอน" +++ปตท.มั่นใจเอ็นจีวีไม่กระทบ ขณะที่การบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(เอ็นจีวี) ปตท.มั่นใจว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากการปิดซ่อมแหล่งก๊าซในพม่าในครั้งนี้ เนื่องจากยังมีปริมาณก๊าซที่ค้างอยู่ในท่อประมาณ 350 ล้านลูกบาศก์ฟุต ซึ่งจะทยอยนำมาใช้ให้กับเอ็นจีวี โดยปัจจุบันความต้องการใช้ก๊าซเอ็นจีวีจะมีอยู่ประมาณ 30 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ดังนั้นจึงมีปริมาณเหลือพอที่จะใช้ได้ประมาณ 11-12 วัน ส่วนข้อกังวลหากผู้ผลิตก๊าซไม่สามารถซ่อมแท่นผลิตเสร็จตามแผนที่ระบุไว้ ปตท.ก็มีแผนสำรอง ที่จะต้องนำก๊าซจากแหล่งอ่าวไทยมาป้อนให้กับฝั่งตะวันตก ซึ่งยอมรับว่าอาจส่งผลกระทบบางส่วนในเรื่องของคุณภาพก๊าซเอ็นจีวี ที่จะมีค่าความร้อนสูงเกินกว่าเครื่องยนต์รับได้ เพราะตามกฎหมายของกรมธุรกิจพลังงาน(ธพ.) กำหนดค่าความร้อนของเนื้อก๊าซไม่เกิน 42 เมกะจูนต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ปตท.ทดลองนำก๊าซจากฝั่งตะวันออกที่มีค่าความร้อน 44 เมกะจูน มาใช้ ก็ไม่ได้เกิดผลกระทบต่อเครื่องยนต์ โดยเฉพาะกลุ่มรถบรรทุกที่สามารถใช้ก๊าซดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความมั่นใจมากขึ้น ก็ได้มีการเติมคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อปรับลดค่าความร้อนให้ต่ำลงมา "ปตท. ได้ทำหนังสือไปยัง ธพ. เพื่อผ่อนผันการใช้ค่าความร้อนเอ็นจีวีเกินมาตรฐานในช่วง 10 วัน (วันที่ 5-14 เมษายน 2556) เพื่อป้องกันปัญหาเอ็นจีวีขาดแคลนในช่วงวิกฤติดังกล่าว เนื่องจากปตท.จะจ่ายก๊าซจากฝั่งตะวันออกย้อนขึ้นไปฝั่งตะวันตก เพื่อไม่ให้ก๊าซฝั่งตะวันตกขาดแคลน ขณะเดียวกันในอนาคตอาจต้องพิจารณาการกำหนดค่าความร้อนเนื้อก๊าซใหม่ เนื่องจากจะมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) มาใช้มากขึ้น ซึ่งมีค่าความร้อนมากถึง 50 เมกะจูน" +++เร่งจัดสรรเอ็นจีวีป้อนปั๊ม ทั้งนี้ขอยืนยันว่า ปริมาณก๊าซที่ค้างท่อจำนวน 350 ล้านลูกบาศก์ฟุต จะนำมาป้อนให้กับสถานีเอ็นจีวีขนาดใหญ่ตามแนวท่อ(สถานีแม่) ที่ราชบุรี ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากการหยุดซ่อมท่อก๊าซพม่า โดยจะกระจายไปยังสถานีนอกแนวท่อ(สถานีลูก) จำนวน 27 แห่ง และสถานีแนวท่อ 5 แห่ง ครอบคลุม 8 จังหวัดภาคใต้ ไปถึงจังหวัดชุมพร "ขณะที่ก๊าซจากฝั่งตะวันออกจะส่งไปยังสถานีหลัก 5 แห่ง ได้แก่ สถานีลาดหลุมแก้ว สามโคก เชียงรากน้อย ทุ่งครุ และกัลปพฤกษ์ ซึ่งกำลังการผลิตรวมทั้ง 5 แห่ง อยู่ที่ 1.24 พันตันต่อวัน โดยจะจ่ายก๊าซไปยังสถานีลูก 88 แห่ง ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่าการปิดซ่อมแหล่งก๊าซในพม่าครั้งนี้ จะไม่ส่งผลกระทบกับภาคเอ็นจีวีแต่อย่างใด" +++เตรียมนำเข้าแอลเอ็นจีเพิ่ม สำหรับแผนจัดหาก๊าซ หลังจากนี้ไป ในปี 2557 จะมีก๊าซจากแหล่งซอติก้า ของเมียนมาร์ เข้าระบบจำนวน 240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งจะเข้ามาเสริมจากปัจจุบัน และเป็นส่วนหนึ่งที่จะมาป้อนให้กับโรงไฟฟ้าวังน้อยและพระนครเหนือที่จะเข้าระบบในปีหน้าอีก โดยแหล่งซอร์ติก้า มีความร้อนใกล้เคียงกับแหล่งเยตากุน ดังนั้นแม้ว่าเมียนมาร์จะปิดซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซก็ยังมีก๊าซป้อนในระบบอยู่ "แม้ว่าจะมีแหล่งก๊าซใหม่เข้ามาเพิ่ม แต่ก็ต้องยอมรับว่าปริมาณก๊าซในอ่าวไทยกำลังจะหมด เนื่องจากก๊าซเป็นเชื้อเพลิงที่ใช้แล้วหมดไป ดังนั้นตามแผนของ ปตท. คาดว่าจะต้องนำเข้าก๊าซในรูปของแอลเอ็นจีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปีนี้คาดว่าจะนำเข้า 2 ล้านตัน เทียบกับปี 2555 ที่ 1 ล้านตัน เนื่องจากความต้องการใช้ในภาคการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้น" อย่างไรก็ตามการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีเพิ่มขึ้น ย่อมส่งผลต่อต้นทุนผลิตไฟฟ้า เนื่องจากแอลเอ็นจีมีราคาสูงกว่าก๊าซในอ่าวไทย โดยอยู่ที่ประมาณ 18-19 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อล้านบีทียู จากปี 2555 อยู่ที่ 15 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อล้านบีทียู เทียบกับราคาก๊าซในอ่าวไทยอยู่ที่ 10 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อล้านบีทียู ขณะเดียวกัน ปตท.อยู่ระหว่างการขยายคลังเก็บแอลเอ็นจีจากเดิมสามารถรองรับได้ 5 ล้านตัน เป็น 10 ล้านตัน โดยตามแผนจะเสร็จปี 2563 และคาดว่าหากความต้องการใช้ก๊าซยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ก็ต้องพิจารณาเพื่อขยายคลังเก็บแอลพีจีต่อไป "ปัจจุบันความต้องการใช้ก๊าซ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีที่มีราคาแพงกว่าก๊าซในอ่าวไทยมาก ขณะที่ภาคขนส่ง โดยก๊าซที่ใช้ในเอ็นจีวีก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งคาดว่าในปีนี้จะมีความต้องการใช้เอ็นจีวีอยู่ที่ 9 พันตันต่อวัน เทียบกับปีที่แล้วอยู่ที่ 8 พันตันต่อวัน โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 มีความต้องการใช้ก๊าซเอ็นจีวีอยู่ที่ 8.6 พันตันต่อวัน ซึ่งมาจากจำนวนรถยนต์ที่ติดตั้งเอ็นจีวีเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีรถยนต์ที่ติดตั้งเอ็นจีวีประมาณ 3.8-3.9 แสนคัน ในจำนวนนี้แบ่งเป็นกลุ่มรถบรรทุก 16% หรือประมาณ 5-6 หมื่นคัน ซึ่งมีความต้องการใช้เอ็นจีวีคิดเป็น 60% ของยอดใช้ก๊าซทั้งหมด"