image banner

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

ส.ป.ก. ร่วมกับบริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) บันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการเกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน ยกระดับคุณภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรให้ได้มาตรฐานตลอดห่วงโซ่การผลิต

พฤษภาคม 25, 2559 | ข่าวประชาสัมพันธ์

                  สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จับมือร่วมกับบริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) บันทึกข้อตกลงเพื่อพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการเกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน เมื่อเร็วๆนี้ เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตและพัฒนาคุณภาพผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตอาหารสัตว์ ให้เป็นไปตามมาตรฐานสินค้าเกษตร (มกษ)ตามหลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ภายใต้การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายในเขตปฏิรูปที่ดิน โดยมุ่งไปที่พื้นที่ศักยภาพในการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (S1, S2) ด้านขอบข่ายความร่วมมือ ส.ป.ก.จะสนับสนุนองค์ความรู้เพื่อเตรียมความพร้อมเกษตรกรเพื่อให้ปรับระบบการผลิตเข้าสู่มาตรฐาน GAP จนได้รับการรับรองจาก ส.ป.ก. ส่วนบริษัทกรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) จะให้องค์ความรู้และเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนการผลิต ปรับปรุงกระบวนการปลูกที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ตั้งแต่การวิเคราะห์ธาตุอาหารในดินจนถึงกระบวนการจัดการหลังเก็บเกี่ยว การจัดการของเสียจากการเพาะปลูก รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดศูนย์การเรียนรู้ชุมชน เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลในการพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยมุ้งเน้นให้เกษตรกรร่วมกันเรียนรู้และนำเทคโนโลยีไปใช้ในแปลงของตนเองได้       
               การดำเนินงานยึดหลักการตามยุทธศาสตร์และแนวนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยบูรณาการงาน ในพื้นที่เป้าหมายร่วมกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกร ทั้งระบบห่วงโซ่อุปทาน เชื่อมโยงข้อมูลเขตความเหมาะสมในการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (Zoning) และการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรแบบแปลงใหญ่ ส่งเสริมการวิจัยพัฒนา สร้างต้นแบบศูนย์เรียนรู้ สร้างเครือข่ายและขยายผลองค์ความรู้และเทคโนโลยีแก่เกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรม โดยใช้กระบวนการกลุ่มและกลไกสหกรณ์ การซื้อขายผลผลิตและปัจจัยการผลิตของเกษตรกร ที่ร่วมโครงการเป็นไปตามความพึงพอใจของเกษตรกรและกลไกของตลาด ไม่มีระบบผูกขาดใดๆกับเกษตรกร แต่เกษตรกรที่ร่วมโครงการต้องปฏิบัติตามหลัก GAP โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องไม่เผาตอซังก่อนการเตรียมดิน เพื่อให้เกษตรกรตระหนักถึงปัญหาหมอกควันที่เกิดขึ้น เป็นต้น ตามบันทึกข้อตกลงนี้บริษัทจะรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น ซึ่งโครงการมีระบบการลงทะเบียน ระบบตรวจสอบพื้นที่ผลิต และผลผลิตที่รัดกุม โดยให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มกิโลกรัมละ 0.35 -0.40 บาท จากกับราคากลางของตลาด
 
               ผลการดำเนินงานโครงการปี 2558 ดำเนินการไปแล้ว 16 จังหวัด ภาคเหนือ 12 จังหวัด ได้แก่ แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก ตาก เพชรบูรณ์ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำปาง ลำพูน ภาคกลาง 2 จังหวัด ได้แก่ สระบุรี ลพบุรี และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา เลย จำนวนเกษตรกรผ่านการอบรมทั้งหมด 3,458 คน พื้นที่ 83,577 ไร่ พัฒนาเกษตรกรเป็นแปลงสาธิตและแปลงเรียนรู้แล้ว 18 แปลง เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร เป็นแบบอย่างด้านการพึ่งตนเองตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และสร้างความตระหนักในการทำเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแก่เกษตรกรรายอื่นต่อไป
ป้ายกำกับ
ล่าสุด