กฎหมาย ระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
1. พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2519 และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2532
มาตรา 4... "การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม" หมายความว่า การปรับปรุงเกี่ยวกับสิทธิ และการถือครองในที่ดินเพื่อเกษตรกรรม รวมตลอดถึงการจัดที่อยู่อาศัยในที่ดินเพื่อเกษตรกรรมนั้น...
2. ระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) ว่าด้วย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกร ซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2535
ข้อ 4 ในระเบียบนี้
"เกษตรกร" หมายความว่า
(1) ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยพิจารณาจากการใช้เวลา ส่วนใหญ่ในรอบปี เพื่อประกอบเกษตรกรรมแห่งท้องถิ่นนั้น
(2) ผู้ยากจน ผู้จบการศึกษาทางเกษตรกรรม และผู้เป็นบุตรของเกษตรกรที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
ข้อ 6 เกษตรกรผู้ซึ่งมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน
(1) มีสัญชาติไทย
(2) บรรลุนิติภาวะ หรือเป็นหัวหน้าครอบครัว
(3) มีความประพฤติดี และซื่อสัตย์สุจริต
(4) มีร่างกายสมบูรณ์ ขยันขันแข็ง และสามารถประกอบการเกษตรได้
(5) ไม่เป็นคนวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
(6) ไม่มีที่ดินเพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นของตนเอง หรือของบุคคลในครอบครัวเดียวกัน หรือมีที่ดินเพียงเล็กน้อย แต่ไม่เพียงพอแก่การประกอบเกษตรกรรมเพื่อการเลี้ยงชีพ
(7) เป็นผู้ยินยอมปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดกำหนด
ข้อ 8 เกษตรกรผู้จะได้รับการพิจารณาคัดเลือกเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินได้ ต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) เกษตรกรผู้ถือครองที่ดินของรัฐหรือเกษตรกรผู้เช่าที่ดินที่นำมาดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และเป็นผู้ทำกินในที่ดินนั้น
(2) เกษตรกรผู้ได้รับการขึ้นทะเบียนขอรับที่ดินทำกินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
(3) เกษตรกรอื่นตามที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดกำหนดให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดเป็นผู้พิจารณาในการจัดลำดับเกษตรกรที่จะจัดที่ดินให้ตามวรรคหนึ่ง
3. ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ตามหนังสือ ที่ นร 0601/193 ลงวันที่ 24 มีนาคม 2538 ได้ให้ความเห็นคำว่าเกษตรกร ดังนี้
1. เป็นผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ได้แก่ ผู้เป็นเกษตรกรอยู่แล้วตามความเป็นจริง และใช้เวลาส่วนใหญ่ในอาชีพเกษตรกรรม มิใช่อาชีพอื่น ซึ่งเกษตรกรประเภทนี้มิได้กำหนดว่าต้องเป็นเกษตรกรผู้ยากจน แต่จากคำนิยามในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 เป็นที่เข้าใจว่า ต้องไม่มีที่ดินเป็นของตนเองหรือมีที่ดินเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพ
2. เป็นผู้ประสงค์จะประกอบอาชีพเกษตรกรรม ได้แก่ ผู้ที่ยังไม่เป็นเกษตรกรแต่ประสงค์จะเป็นเกษตรกร และมาขอรับการจัดที่ดิน ซึ่งเกษตรกรประเภทนี้ จะต้องเป็นผู้ยากจน หรือเป็นผู้จบการศึกษาทางการเกษตรกรรมหรือเป็นบุตรของเกษตรกร และบุคคลดังกล่าว ไม่มีที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นของตนเอง และไม่มีอาชีพอันมีรายได้ประจำเพียงพอแก่การครองชีพ