image banner

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

ส.ป.ก.ลำปาง เข้าร่วมงานแถลงข่าวสถานการณ์ภัยแล้ง เตรียมพร้อมบริหารจัดการน้ำตลอดจนมาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง
          วันนี้ 29 มกราคม 2564 ที่ริมแม่น้ำวังหลังจวนผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการจัดแถลงข่าวสถานการณ์ภัยแล้งจังหวัดลำปาง ประจำปี 2564 ให้แก่สื่อมวลชน เพื่อติดตามการเตรียมความพร้อมด้านการบริหารจัดการน้ำตลอดจนมาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในทุกมิติ โดยมีนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธาน การแถลงข่าว พร้อมด้วย นายสุรพล บุรินทราพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เกษตรและสหกรณ์จังหวัดลำปาง ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ภาค 1 ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำ สำนักงานชลประทานที่ 2 หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลำปาง ท้องถิ่นจังหวัดลำปาง ผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาค สาขาลำปาง ผู้อำนวยสำนักงานทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 1 ลำปาง ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 2 (ลำปาง) ส.ป.ก.ลำปาง โดยนางสาวอรณัชชา สุวรรณชัย ปฏิรูปที่ดินจังหวัดลำปาง เข้าร่วมแถลงข่าว
          ซึ่งจังหวัดลำปาง โดยศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรจังหวัดลำปาง ได้จัดทำแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้านการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง ปี 2563/2564 เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงานของส่วนราชการสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร เพื่อเตรียมการให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร ที่อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง ให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย การเตรียมความพร้อม โดยจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งจังหวัดลำปาง ปี 2564 จัดทำแผนเผชิญเหตุภัยแล้ง ปี 2564 จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาภัยแล้งจังหวัดลำปาง ปี 2564 (War Room) มอบหมายส่วนราชการ หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ จัดเตรียมกำลังคน วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องจักรกลสาธารณภัย เช่น รถยนต์บรรทุกน้ำ เครื่องสูบน้ำ เป็นต้น ให้มีความพร้อมปฏิบัติงานตามแผนเผชิญเหตุ ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งประสานความร่วมมือกับภาคเอกชน องค์กรสาธารณกุศลที่มีศักยภาพ ประชาชนจิตอาสา มีส่วนร่วมในการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากภัยแล้ง อีกทั้ง สำรวจ ซ่อมแซมแหล่งเก็บกักน้ำ และภาชนะเก็บน้ำกลางให้อยู่ในสภาพที่ใช้การได้ และจัดทำแผนการแจกจ่ายน้ำในแต่ละหมู่บ้าน/ชุมชน โดยให้ความสำคัญกับหมู่บ้าน/ชุมชนที่ไม่มีระบบประปา เป็นพิเศษ รวมถึงกำหนดจุดแจกจ่ายน้ำกลาง เพื่อการอุปโภคบริโภคบริเวณสถานที่ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ พร้อมทั้ง ตรวจสอบข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งด้านการเกษตร และบูรณาการหน่วยงานระดับพื้นที่ในการติดตาม เฝ้าระวัง ตลอดจนเตรียมความพร้อม โดยการติดตั้งเครื่องจักรกลสาธารณภัยในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งไว้เป็นการล่วงหน้า สำหรับใช้แก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที พร้อมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนการจัดสรรน้ำ แผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ตลอดจนมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ในพื้นที่ สำหรับการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและลดผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นต่อภาคการเกษตร หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีแนวทางมาตรการการดำเนินการ 3 มาตรการ คือ มาตรการก่อนเกิดภัย มาตรการขณะเกิดภัย และมาตรการหลังเกิดภัย
          1) ด้านพืช แจ้งให้สำนักงานเกษตรอำเภอทุกอำเภอ เตรียมความพร้อมในการดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรที่อาจประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน โดยให้ติดตามข้อมูลข่าวสาร การพยากรณ์อากาศ สภาพภูมิอากาศ เพื่อประเมินสถานการณ์พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร และแจ้งเตือนภัยให้เกษตรกรทราบเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยพิบัติฯ ทำการปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร ให้คำแนะนำทางด้านวิชาการ และเน้นย้ำให้เกษตรกรปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย และการป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่เหมาะสม และประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรที่ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้นรักษาความชุ่มชื้นรอบโคนต้น โดยใช้หญ้าแห้ง หรือเศษใบไม้ ปิดบริเวณโคนต้น การตัดแต่งกิ่งเพื่อลดการคายน้ำ
          2) ด้านประมง ประชาสัมพันธ์แจ้งให้เกษตรกรขึ้นทะเบียนด้านประมงกับหน่วยงานของกรมประมงก่อนเกิดภัยพิบัติ และมีแจ้งเตือนภัยกับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ทราบถึงช่วงระยะเวลาหรือภาวะภัยที่จะมาถึง เพื่อสามารถเตรียมตัวรับสถานการณ์ หาวิธีการป้องกันทางสื่อต่างๆ รวมทั้งให้เกษตรกรติดตามข่าวสารพยากรณ์อากาศจากทางราชการอย่างใกล้ชิด ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ และต้องมีความระมัดระวังโรคระบาดสัตว์น้ำในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ตลอดจนให้คำแนะนำทางวิชาการต่างๆ เช่น ข้อควรปฏิบัติในการเลี้ยงสัตว์น้ำในช่วงฤดูแล้งทั้งกรณีที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อดิน และ กรณีที่เลี้ยงสัตว์น้ำในกระชัง
          3) ด้านปศุสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดลำปางได้แจ้งให้ปศุสัตว์อำเภอทุกอำเภอประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ให้เกษตรกรทราบอย่างต่อเนื่อง ได้เตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัย เช่น สำรองเสบียงอาหารสัตว์ (หญ้าแห้ง) จำนวน 10 ตัน ยาปฏิชีวนะละลายน้ำ จำนวน 1,000 ซอง ยาฉีด จำนวน 200 ขวด วัคซีนสำหรับสัตว์ทุกชนิด 200,000 โด๊ส
          4) ด้านพัฒนาที่ดิน สถานีพัฒนาทีดินลำปาง ได้ดำเนินโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ในพื้นที่จังหวัดลำปาง เพื่อให้เกษตรกรมีแหล่งน้ำในการทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง จำนวน 244 บ่อ กระจายในพื้นที่ 12 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเสริมงาม 30 บ่อ, อำเภอเถิน 20 บ่อ, อำเภอเมืองลำปาง 30 บ่อ, อำเภอเมืองปาน 24 บ่อ, อำเภอแจ้ห่ม 2 บ่อ, อำเภอห้างฉัตร 6 บ่อ, อำเภอวังเหนือ 20 บ่ออำเภอแม่ทะ 38 บ่อ, อำเภองาว 25 บ่อ, อำเภอเกาะคา 27 บ่อ, อำเภอแม่พริก 19 บ่อ และ อำเภอแม่เมาะ 9 บ่อ
          5) ด้านสหกรณ์ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดลำปาง มีแผนงาน/โครงการเพื่อบรรเทาภัยแล้งด้านการเกษตร ให้แก่สหกรณ์และสมาชิกสหกรณ์ จำนวน 2 โครงการ ได้แก่
               1) โครงการสนับสนุนเงินทุนเพื่อการพัฒนาอาชีพสมาชิกสหกรณ์ ดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี และ
               2) โครงการสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังนาผ่านระบบสหกรณ์ ปีการผลิต 2563/2564 ดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี
 
          อย่างไรก็ตาม สถานการณ์น้ำลุ่มน้ำวัง จังหวัดลำปาง ในปัจจุบันและแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2563/2564 เขื่อนขนาดใหญ่ในลุ่มน้ำวัง คือ เขื่อนกิ่วลม และเขื่อนกิ่วคอหมา มีปริมาณน้ำ 139 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 51% ของความจุเก็บกักปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศน์ ตลอดฤดูแล้งถึงต้นฤดูฝน รวมทั้งการเตรียมแปลงตกกล้าข้าวนาปี เหลือน้ำสำหรับการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งตามแผนเพียง 5,300 ไร่ ซึ่งสำนักงานชลประทานที่ 2 มีมาตรการจ้างแรงงานเพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรในเขตจังหวัดลำปาง จำนวน 1,922 คน วงเงิน 24.4 ล้านบาท และได้เตรียมเครื่องจักรเครื่องมือเพื่อช่วยเหลือภัยแล้ง เช่น เครื่องสูบน้ำ 42 เครื่อง รถบรรทุกน้ำ 6 คัน เป็นต้น ทั้งนี้ ได้สั่งการให้อำเภอ และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำแผนเผชิญเหตุ และจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งในการบริหารจัดการภัยแล้ง พร้อมขอความความร่วมมือจากทุกๆ ภาคส่วนให้ใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อให้การเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2564 จังหวัดลำปาง เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ป้ายกำกับ
ล่าสุด