ประวัติจังหวัดลำปาง
1.1 สภาพโดยทั่วไปของจังหวัด
· ประวัติจังหวัดลำปาง
จังหวัดลำปาง เป็นจังหวัดที่มีอายุเก่าแก่ไม่น้อยกว่า 1,300 ปี มีชื่อเรียกขานกันหลายชื่อ ซึ่งปรากฏหลักฐานตามตำนานต่าง ๆ รวม 11 ชื่อ ได้แก่ กุกกุฏนคร ลัมภกับปะนคร ศรีนครชัย นครเวียงคอกวัว เวียงดิน เขลางค์นคร นครลำปางคำเขลางค์ อาลัมภางค์ เมืองลคร และเมืองนครลำปาง จากการที่เรียกขานกันว่า "กุกกุฏนคร" แปลว่าเมืองไก่ ดังนั้น ตราประจำจังหวัดลำปาง คือ "ไก่ขาว"
จังหวัดลำปาง สร้างเมื่อ พ.ศ.1223 จากหนังสือพงศาวดารโยนกกล่าวว่า "สุพรหมฤาษี" สร้างเมืองเพื่อให้ เจ้าอนันตยศ โอรสพระนางจามเทวี ครองคู่กับเมืองหริภุญชัย (ลำพูน) ให้ชื่อเมืองว่า "นครเขลางค์" ต่อมาเปลี่ยนเป็น "นครอัมภางค์" และเปลี่ยนชื่อเป็น "นครลำปาง" ในภายหลัง
ในสมัยโยนกเชียงแสน นครลำปางเคยตกอยู่ภายใต้อำนาจของขอม เคยเป็นเมืองประเทศราชของพม่าและเมืองเชียงใหม่ ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี "เจ้าทิพย์ช้าง" สามารถขับไล่พวกพม่าออกจากเมืองลำปางได้สำเร็จ จึงได้รับการสถาปนาเป็น "พระยาสุวลือไชยสงคราม" ขึ้นครองนครลำปางในปี พ.ศ.2279
ในปี พ.ศ.2307 "เจ้าแก้วฟ้า" พระโอรสของเจ้าทิพย์ช้างได้ขึ้นครองนครลำปาง และเป็นต้นตระกูล ณ ลำปาง ณ ลำพูน รวมทั้ง ณ เชียงใหม่ ในเวลาต่อมา และมี "เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต"เป็น
ผู้ครองนครลำปางองค์สุดท้าย
จังหวัดลำปางได้ประกาศจัดตั้งเป็นจังหวัด ในปี พ.ศ.2435 (สมัยรัชกาลที่ 5) โดยขึ้นอยู่กับมณฑลพายับสมัยหนึ่ง (พ.ศ.2443) ต่อมาแยกเป็นมณฑลมหาราษฎร์ ในปี พ.ศ.2458 ซึ่งในเวลาต่อมาได้มีประกาศยกเลิกมณฑลทั่วราชอาณาจักร ลำปางจึงมีฐานะเป็น ?จังหวัดลำปาง? ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการอาณาจักรสยาม พ.ศ.2476
สัญลักษณ์จังหวัดลำปาง
****************
ตราประจำจังหวัดลำปาง
รูปไก่ขาวยืนอยู่ในซุ้มมณฑปพระธาตุลำปางหลวง
หมายถึง ไก่เผือก เป็นสัญลักษณ์ที่มีมาตั้งแต่สมัยเมืองกุกุตตนคร (ตำนานเมืองลำปาง) และได้กลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญโดยปรากฏเครื่องหมายไก่เผือก คู่กับ ดวงตราแผ่นดินในศาลากลางเมืองลำปาง ตั้งแต่สมัยเริ่มเปลี่ยนที่ทำการเมืองจาก "เค้าสนามหลวง" เป็นศาลากลางเมืองนครลำปางขึ้น ในสมัยเริ่มสร้างศาลากลางหลังแรก เมื่อ พ.ศ. 2452
ซุ้มมณฑปที่วัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นศิลปกรรมล้านนาที่งดงามมาก วัดพระธาตุลำปางหลวงเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองลำปาง มีองค์พระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก
คำขวัญ คำขวัญของจังหวัดลำปาง
"ถ่านหินลือชา รถม้าลือลั่น
เครื่องปั้นลือนาม งามพระธาตุลือไกล ฝึกช้างใช้ลือโลก"
· ที่ตั้งและอาณาเขต
จังหวัดลำปาง ตั้งอยู่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ห่างจากกรุงเทพฯ ตามทางหลวงแผ่นดินสายพหลโยธิน ประมาณ 602 กม. ตามทางรถไฟประมาณ 625 กม. มีเนื้อที่ประมาณ 12,533.961 ตร.กม. หรือประมาณ 7,833,726 ไร่ มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของภาคเหนือ รองจากเชียงใหม่ ตาก แม่ฮ่องสอน และเพชรบูรณ์ มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดข้างเคียงถึง 7 จังหวัด ดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และพะเยา
ทิศใต้ ติดต่อกับ จังหวัดตาก
ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดแพร่ และสุโขทัย
ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดลำพูน
· สภาพภูมิประเทศ
จังหวัดลำปาง อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 268.80 เมตร พื้นที่มีลักษณะเป็นรูปยาวรี ภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบสูง มีภูเขาสูงอยู่ทั่วไป ทอดตัวยาวตามแนวทิศเหนือไปทางทิศใต้ของจังหวัด และในบริเวณตอนกลางของจังหวัดบางส่วนมีที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำ และตามลักษณะทางกายภาพทางด้านธรณีสัณฐานวิทยา จังหวัดลำปางมีพื้นที่เป็นที่ราบล้อมรอบด้วยภูเขา มีลักษณะเป็นแอ่งแผ่นดินที่ยาวและกว้างที่สุดในภาคเหนือ เรียกว่า ?อ่างลำปาง? ลักษณะภูมิประเทศแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ คือ
บริเวณตอนบนของจังหวัด เป็นที่ราบสูง ภูเขา และเป็นป่าค่อนข้างทึบ อุดมสมบูรณ์ด้วยไม้มีค่า ได้แก่ พื้นที่อำเภอเมืองปาน แจ้ห่ม วังเหนือ และงาว
บริเวณตอนกลางของจังหวัด เป็นที่ราบและที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำ ซึ่งเป็นแหล่งเกษตรกรรมที่สำคัญของจังหวัด ได้แก่ พื้นที่อำเภอห้างฉัตร เมืองลำปาง เกาะคา แม่ทะ และสบปราบ
บริเวณตอนใต้ของจังหวัด เป็นป่าไม้รัง บางส่วนเป็นทุ่งหญ้า ได้แก่ พื้นที่อำเภอเถิน แม่พริก บางส่วนของอำเภอเสริมงาม และแม่ทะ
· สภาพภูมิอากาศ
จากลักษณะพื้นที่ของจังหวัดที่เป็นแอ่งคล้ายก้นกะทะ จึงทำให้อากาศร้อนอบอ้าวเกือบตลอดปี ฤดูร้อนร้อนจัด และหนาวจัดในฤดูหนาว มีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุด 42.70 องศาเซลเซียส เฉลี่ยต่ำสุด 10.5 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนวัดได้ 1,467.80 มิลลิเมตร ลักษณะภูมิอากาศ แบ่งออกได้เป็น 3 ฤดู คือ
ฤดูร้อน เริ่มประมาณต้นเดือน มีนาคม จนถึงกลางเดือน พฤษภาคม อากาศจะร้อน อบอ้าว ช่วงที่มีอากาศร้อนที่สุดคือ เดือนเมษายน
ฤดูฝน เริ่มประมาณกลางเดือน พฤษภาคม
ฤดูหนาว เริ่มประมาณเดือน พฤศจิกายน จนถึงเดือน กุมภาพันธ์ อากาศจะหนาวเย็น
ช่วงที่มีอากาศหนาวจัด คือ เดือนมกราคม
· ประชากร
ประชากรจังหวัดลำปาง มีจำนวนทั้งสิ้น 767,615 คน เป็นชาย 378,744 คน หญิง 388,871 คน อำเภอที่มีประชากรมากที่สุดได้แก่ อำเภอเมืองลำปาง (รวมเขตเทศบาลนครฯ) มีจำนวน 235,195 คน รองลงไป คือ อำเภอเกาะคา แม่ทะ และ เถิน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2551)
· สภาพการเมืองและการปกครอง
การปกครอง จังหวัดลำปางแบ่งออกเป็น 13 อำเภอ 100 ตำบล 929 หมู่บ้าน 101 ชุมชน (เฉพาะชุมชนในเขตเทศบาลนครลำปาง และเทศบาลเมืองเขลางค์นคร) 1 องค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 เทศบาลนคร 1 เทศบาลเมือง 23 เทศบาลตำบล 78 องค์การบริหารส่วนตำบล
การบริหารราชการ ส่วนราชการในจังหวัดลำปาง แบ่งออกเป็น 4 ลักษณะ
1. หน่วยราชการส่วนภูมิภาค 32 หน่วยงาน
2. หน่วยราชการส่วนกลาง 98 หน่วยงาน
3. หน่วยงานอิสระ 25 หน่วยงาน
4. การบริหารส่วนท้องถิ่น มี 3 รูปแบบ
- องค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 หน่วยงาน
- เทศบาล 25 หน่วยงาน
- องค์การบริหารส่วนตำบล 78 หน่วยงาน
ความเป็นมาของ ส.ป.ก.ลำปาง
ด้วยมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดิน ในท้องที่บางส่วน อำเภองาว และอำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2536 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 110 ตอนที่ 155 วันที่ 6 ตุลาคม 2536 จึงได้มีการจัดตั้งสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดลำปาง โดยความตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2519 และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2532
สถานที่ตั้งสำนักงาน
สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดลำปาง (ส.ป.ก.ลำปาง) ปัจจุบันมีที่ทำการชั้นที่ 4 ศูนย์ราชการจังหวัดลำปาง เลขที่ 999 ถนนวชิราวุธดำเนิน ตำบลพระบาท อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง 52000 โทรศัพท์,โทรสาร หมายเลข 0 54820 061
ประวัติ อาคาร สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดลำปาง
นายฤทธิเดช คุ้มพงษ์ ปฏิรูปที่ดินจังหวัดลำปาง จัดหาสถานที่ก่อสร้างสำนักงาน เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ เนื้อที่ ๒-๐-๐๐ ไร่ ของบประมาณในการก่อสร้างเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๔๗
นายอนันต์ ภู่สิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้จัดสรรงบประมาณก่อสร้างเมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๔๙ งบประมาณค่าก่อสร้างรวม ๙,๔๗๐,๐๐๐.- บาท เริ่มการก่อสร้าง ๑๑ เมษายน ๒๕๔๙ แล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๐
คณะกรรมการตรวจการจ้าง
นายฤทธิเดช คุ้มพงษ์ ปฏิรูปที่ดินจังหวัดลำปาง ประธานกรรมการ
นายประทีป ประคองวงศ์ วิศวกรวิชาชีพ ๘ วช กรรมการ
นายพัชรบูรณ์ สมนึก สถาปนิก ๗วช กรรมการ
นายยงยุทธิ์ แสงโชติ นายช่างสำรวจ ๗ กรรมการ ผู้ออกแบบ
นางสาววิชชุดา สร้างเอี่ยม สถาปนิก ๔
นายสามารถ พิชัยโรจน์รุ่ง วิศวกรโยธา ๖ว
ว่าที่รัอยตรีเกษียร เทียนวิจิตรฉาย วิศวกรโยธา ๘วช (ผู้อำนวยการส่วนออกแบบฯ)
จัดทำโดยข้าราชการและเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.ลำปาง
๑๖ มีนาคม ๒๕๕๐