ยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ปี 2558
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้นำเสนอ ยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ปี 2558 ในการประชุมเชิงปฏิบัติการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน
ปี พ.ศ. 2556 ครั้งที่ 2 ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี (นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) เป็นประธาน และมีคณะรัฐมนตรี และหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่าเข้าร่วมการประชุม เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2555 เวลา 09.00 น. ณ ห้อง 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งประกอบด้วย 8 ประเด็นยุทธศาสตร์ ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของสินค้า บริการ การค้าและการลงทุน
ที่ครอบคลุมตั้งแต่การส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ การอำนวยความสะดวก การตลาด การพัฒนาศักยภาพในการแข่งขัน การพัฒนาปรับปรุงมาตรฐาน การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
วัตถุประสงค์ :
- เพื่อยกระดับห่วงโซ่มูลค่าภาคอุตสาหกรรมสู่การใช้เทคโนโลยีชั้นสูงเพื่อรักษาฐานอุตสาหกรรมเดิม และมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมอนาคตที่สร้างรายได้ใหม่ เช่น ผลิตอาหารคุณภาพและขับเคลื่อนครัวไทยสู่ครัวโลก
- เพื่อสร้างมูลค่าให้กับภาคเกษตร ภาคบริการ และการท่องเที่ยว เพราะเป็นแหล่งสร้างรายได้หลักและการจ้างงานขนาดใหญ่ของประเทศ เช่น ตลาดสินค้าและบริการจังหวัด (One Tambon One Product : OTOP)
- เพื่อสร้างปัจจัยแวดล้อมให้เอื้อต่อการพัฒนาภาคการผลิตและบริการโดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการสร้างมูลค่าเพิ่ม ใช้โอกาสจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันประเทศ
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการคุ้มครองทางสังคม ซึ่งเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ได้รับการคุ้มครองทางสังคมและการประกันความเสี่ยง และมีสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ที่มั่นคงปลอดภัย
วัตถุประสงค์ :
- เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงทำให้ประชาชนมีคุณภาพที่ดีขึ้น เช่น นำความรู้สู่ชุมชนเกี่ยวกับงานฝีมือ งานประดิษฐ์ งานชั่ง สิ่งทักทอ
- เพื่อให้เข้าถึงบริการทางสังคม บริการสาธารณูปโภค และบริการสาธารณะสุขที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต เช่น การป้องกันการก่อการร้าย อาชญากรรม ยาเสพย์ติด ภัยพิบัติ และการแพร่ระบาดของโรคภายในภูมิภาค
- เพื่อให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองสิทธิผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมอย่างทั่วถึงเช่น จัดสวัสดิการ การคุ้มครอง ส่งเสริม และพัฒนาศักยภาพ ผู้ด้อยโอกาส เด็ก สตรี และคนพิการ ด้านความรู้ความเข้าใจและเข้าถึงสิทธิ และกฎหมายต่างๆ
- เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของคนไทยและแรงงานไทยในต่างประเทศเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เช่น กำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานระหว่างประเทศ เพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ วัตถุประสงค์ :
เพื่อให้โครงสร้างพื้นฐานมีความเชื่อมโยงและมีขีดความสามารถในการรองรับพร้อมทั้งมีกฎระเบียบที่อำนวยความสะดวกทั้งการค้าและการลงทุน เช่น
- การพัฒนาระบบการขนส่งทางรถไฟและน้ำให้มีการขนส่งสินค้าได้มากขึ้น เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งที่ประหยัดพลังงานและต้นทุน
- การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ และเชื่อมต่อไปสู่ต่างประเทศตลอดจนพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่ง เช่น สร้างรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทางจากกรุงเทพฯ สู่เมืองหลักในภูมิภาคอาเซียน สร้างรถไฟฟ้า 10 สายทางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นต้น
- การพัฒนาเส้นทางการค้าและการขนส่งใหม่ฝั่งทะเลอันดามัน
- เพื่อเหนี่ยวนำการพัฒนาพื้นที่ในภาคใต้และรองรับการขยายตัวของการค้าระหว่างประเทศจีน-อาเซียน และอาเซียน-อินเดีย
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อให้มีมาตรฐานการศึกษาอาเซียน รวมทั้งทักษะฝีมือและภาษา เช่น พัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ และภาษาอาเซียน สำหรับแรงงานวิชาชีพ 8 วิชาชีพ เช่น วิชาชีพที่เกี่ยวกับการรักษาหรือการแพทย์ (Medical services), วิชาชีพที่เกี่ยวกับทันตกรรม
(dental services), วิชาชีพพยาบาล (nursing services), วิชาชีพด้านวิศวกรรม (engineering services), วิชาชีพด้านสถาปัตยกรรม (architectural services), วิชาชีพเกี่ยวกับการสำรวจ หรือนักสำรวจ (surveying qualification), วิชาชีพบัญชี (accountancy services), วิชาชีพด้านการโรงแรมและการท่องเที่ยว (hotel services and tourism) เพื่อตอบความต้องการแรงงานของประเทศในอาเซียน พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน และนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาเสริม และมีการปฏิรูปการศึกษาเพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมและโลก ผลิตแรงงานให้มีปริมาณเพียงพอกับความต้องการและพัฒนาระบบรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ยุทธศาสตร์ที่ 5 การพัฒนากฎหมาย กฎ และระเบียบ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้า การลงทุน และสอดรับกับพันธกรณีและข้อตกลงอาเซียน รวมทั้งสามารถปกป้องผลประโยชน์และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เช่น
ยุทธศาสตร์ที่ 6 การสร้างความรู้ ความเข้าใจและความตระหนักถึงความสำคัญของอาเซียน เน้นให้ประชาชนทั่วไป ผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าใจและตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการเป็นประชาคมอาเซียน พร้อมกับเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
ยุทธศาสตร์ที่ 7 การเสริมสร้างความมั่นคง เน้นสร้างความร่วมมือ สร้างพันธมิตร สร้างสันติภาพร่วมกัน ด้านการเมืองและความมั่นคง เพื่อนำไปสู่ภูมิภาคที่มีบรรทัดฐานร่วมที่มี เอกภาพ และสันติภาพร่วมกัน เช่น
- การบริหารจัดการพื้นที่ชายแดนทั้งทางบก ทางทะเล ควบคุมการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย เป็นต้น
- สร้างและใช้หลักธรรมาภิบาลในการบริหารงานเพื่อความโปร่งในในองค์กรภาครัฐ ซึ่งประกอบด้วย 6 ประการ ดังนี้ หลักนิติธรรม หลักโปร่งใส หลักคุณธรรม หลักการมีส่วนร่วม หลักความคุ้มค่า หลักรับผิดชอบ
ยุทธศาสตร์ที่ 8 การเพิ่มศักยภาพของเมืองเพื่อเชื่อมโยงโอกาสจากอาเซียน เพื่อทำให้เมืองมีศักยภาพเพิ่มขึ้นเพื่อจะเชื่อมโยงกับสมาชิกอาเซียน ทั้งในด้านอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวบริการ การลงทุนและการค้าชายแดน ซึ่งมีการกำหนดยุทธศาสตร์ของเมืองสำคัญในด้านต่างๆ อาทิ เมืองหลวง เมืองเกษตร
เมืองอุตสาหกรรม เมืองท่องเที่ยว เมืองการค้าชายแดน ตลอดจน Green City เนื่องจากถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการสร้างจุดขาย (branding) และดึงดูดประเทศในกลุ่มอาเซียน
แหล่งข้อมูล :
http://www.ocsc.go.th/ocsc/th/files/CSTI/ASEAN%20UNIT/Dr_Chuvit.pdf
http://www.bb.go.th/