กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรเร่งยื่นเสนอพื้นที่ปลอดศัตรูพืชหรือ Pest Free Area (PFA) สำหรับหอมแดง เพื่อให้สามารถส่งออกหอมแดงเข้าไปในประเทศอินโดนีเซีย โดยเฉพาะด่านท่าเรือที่กรุงจาการ์ตา ซึ่งเป็นด่านนำเข้าหลักของสินค้าจากไทยและประเทศต่าง ๆ ภายหลังประเทศอินโดนีเซียได้ โดยส่งเจ้าหน้าที่หน่วยงาน IAQA มาตรวจประเมินแปลงปลูกหอมแดง โรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุหอมแดง 2 บริษัท ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ รวมทั้งดูงานห้องปฏิบัติการโรคพืช ผลปรากฏว่า IAQA มีความพึงพอใจในระบบการผลิตหอมแดงและระบบการควบคุมศัตรูพืชในหอมแดงของไทย กระทรวงเกษตรของอินโดนีเซียจึงได้ประกาศรับรองแหล่งปลูกหอมแดง จังหวัดศรีสะเกษ ให้เป็นพื้นที่ปลอดศัตรูพืชกักกัน 2 ชนิด ได้แก่ Ditylenchus destructer และ Urocystis cepulae ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา ซึ่งการได้รับอนุญาตครั้งนี้ ทำให้ไทยสามารถส่งออกสินค้าหอมแดงไปยังประเทศอินโดนีเซียโดยผ่านเข้าทางท่าเรือ Tanjung Priok ซึ่งเป็นท่าเรือสำคัญของประเทศอินโดนีเซียได้ โดยเบื้องต้นคาดว่า จะทำให้การค้าและการส่งออกหอมแดงของไทยมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ทั้งยังทำให้ผู้ส่งออกไทยสามารถส่งออกได้ทุกจุดนำเข้า และสามารถกระจายสินค้าไปยังเมืองต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบสินค้าและประหยัดต้นทุนค่าขนส่งให้กับผู้ประกอบการ พร้อมลดความเสี่ยงปัญหาสินค้าเน่าเสีย และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับเกษตรกรของไทย ซึ่งจะช่วยผลักดันปริมาณและมูลค่าการส่งออกหอมแดงไทยเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ ได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตร เร่งดำเนินการขอขยายพื้นที่ปลอดศัตรูพืชกักกันสำหรับหอมแดง ให้ครอบคลุมแหล่งปลูกหอมแดงเพื่อการส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และลำพูน เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาดให้กับเกษตรกรเพิ่มมากขึ้น อ้างอิง http://www.dailynews.co.th/agriculture, 19 ตุลาคม 2558