image banner

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

อาเซียนกับมาตรการที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Measures : NTMs) สินค้าเกษตร

สิงหาคม 28, 2559 | ข่าวอาเซียน

อาเซียน กับ มาตรการที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Measures : NTMs) ประเทศไทยจะรับมืออย่างไร เมื่อเปิด AEC (ASEAN Economic Community) ในปี 2558 ถือว่าเป็นโอกาสดีสำหรับสมาชิกทั้ง 10 ประเทศในการขยายฐานการผลิตและเปิดสินค้าใหม่ ๆ ระหว่างกัน โดยลดภาษีในสินค้าหลายประเภทให้ต่ำที่สุด หรือบางประเภทเป็นสินค้าปลอดภาษี แต่อย่างไรก็ตามประเทศสมาชิกอาเซียนยังคงสร้างมาตรการอื่นๆ มาใช้ในการกีดกันสินค้าจากต่างประเทศแทน หรือที่เรียกว่า มาตรการที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Measures : NTMs) เพื่อใช้ปกป้องภาคอุตสาหกรรมรักษาระดับการจ้างงานในประเทศ และคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD ได้ศึกษาและสรุปมาตรการที่มิใช่ภาษีในตลาดอาเซียนบางประเทศสำหรับกลุ่มสินค้าเกษตรที่ผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญ ดังนี้ อินโดนีเซีย ผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญกับมาตรการที่ส่งผลกระทบ เช่น การกำหนดจำนวนท่าเรือที่ไทยสามารถขนส่งสินค้าผักและผลไม้ได้เพียง 3 แห่ง ได้แก่ 1) ท่าเรือ Soekarno-Hatta ที่เมือง Makassar ในเกาะสุราเวสี ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ห่างจากกรุงจาร์กาตาประมาณ 1,500 กิโลเมตร 2) ท่าเรือ Tanjung Perak ที่เมือง Surabaya ห่างจากกรุงจาร์กาตาประมาณ 800 กิโลเมตร และ 3) ท่าเรือ Belawan ที่เมือง Medan ในเกาะสุมาตรา ห่างจากกรุงจาร์กาตาประมาณ 1,450 กิโลเมตร ซึ่งต้องใช้เวลาและต้นทุนในการขนส่งเพิ่มขึ้น และทำให้สินค้าเน่าเสียหรือมีตำหนิก่อนที่จะไปถึงปลายทาง อีกทั้งยังห้ามนำเข้าผลไม้บางชนิด เช่น ทุเรียน สับปะรด และมะม่วง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการกีดกันข้าวหอมมะลิไทย สินค้าที่ส่งไปต้องเป็นข้าวหอมมะลิชนิดพิเศษที่ส่งเสริมสุขภาพผู้บริโภคบางกลุ่มและต้องได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้าพิเศษ และต้องขออนุญาตจากกระทรวงการค้าของอินโดนีเซียก่อนจึงสามารถนำเข้าได้ มาเลเซีย เช่น การส่งออกมะม่วงไปมาเลเซียต้องจดทะเบียน Farm and Packaging กับหน่วยงานของไทยก่อน จากนั้นกระทรวงเกษตรของมาเลเซียจึงทำการตรวจสอบให้เป็นไปตามมาตรฐานอีกครั้งก่อนจะอนุญาตให้นำเข้า การส่งออกชมพู่ไปมาเลเซียต้องดำเนินการผ่านบริษัท Sheng Khee Fruits SDN. BHD เท่านั้น และการส่งออกข้าวไปมาเลเซียยังไม่สามารถส่งออกได้โดยตรงต้องผ่าน Padiberas National Berhad (BERNAS) ซึ่งเป็นเสมือนหน่วยงานผูกขาดการค้าข้าวในมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ห้ามนำเข้าสินค้าจำพวกผลไม้จากประเทศเขตร้อน เพื่อป้องกันโรคพืชและศัตรูพืชที่ติดมากับผลไม้ ทำให้ผลไม้จากไทยต้องส่งไปยังประเทศอื่นก่อน จึงสามารถนำเข้าฟิลิปปินส์ได้ สิงคโปร์ มีมาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชเข้มงวด เช่น ลำไย กำหนดปริมาณสูงสุดของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างบนเปลือกลำไยอันเนื่องจากการรมควัน เพื่อรักษาคุณภาพไว้ไม่เกิน 250 ppm และในกรณีหมากฝรั่งต้องผลิตโดยใช้สารให้ความหวานเพื่อการบำบัดและรักษาสุขภาพเท่านั้น ประเทศกลุ่ม CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) ยังไม่เข้มงวดการนำเข้าสินค้าเกษตร สำหรับมาตรการอื่น ๆ ที่มีลักษณะบังคับใช้ทั่วไปในทุกประเทศ คือ มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) และประเทศที่มีประชากรนับถือศาสนาอิสลามมาตรการการผลิตสินค้าต้องเป็นไปตามกระบวนการ ฮาลาล (Halal) แหล่งที่มา : กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา
ป้ายกำกับ
ล่าสุด