image banner

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สามของปี 2557

สิงหาคม 29, 2559 | ข่าวอาเซียน

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เผยแพร่ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่สาม และแนวโน้มปี 2557 – 2558 เมื่อวันจันทร์ที่ 17 พฤศจิกายน 2557 มีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตรและอาเซียนโดยสรุปดังนี้ 1. ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สามของปี 2557 1.1 การผลิตเกษตรกรรมขยายตัวร้อยละ 1.7 ชะลอลงจากไตรมาสสองที่ขยายตัวร้อยละ 42 ตามการลดลงของผลผลิตข้าวเปลือก ยางพารา และกุ้งทะเล เนื่องจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการทำนาปรังรอบสองและพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีของเกษตรกรลดลง สำหรับยางพาราในพื้นที่ภาคใต้มีฝนตกชุกทำให้จำนวนวันกรีดยางลดลง และการผลิตกุ้งทะเลยังไม่ฟื้นตัวจากปัญหาการระบาดของโรคตายด่วน อย่างไรก็ตามผลผลิตมันสำปะหลัง ไม้ผล และปศุสัตว์เพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก ผลผลิตต่อไร่ของมันสำปะหลังเพิ่มขึ้น ส่วนผลผลิตไม้ผลเพิ่มขึ้นตามสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย และการผลิตปศุสัตว์เพิ่มตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ 1.2 ราคาสินค้าเกษตรที่ลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือก มันสำปะหลัง และยางพารา โดยราคาข้าวเปลือกลดลงเนื่องจากการระบายข้าวของรัฐบาลในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายนปี 2557 สำหรับมันสำปะหลังมีปริมาณมากในตลาด และอุตสาหกรรมยางพาราในประเทศจีนชะลอตัวจากความกังวลต่อผลผลิตยางพาราที่มีส่วนเกินในตลาดโลก ในขณะที่ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และกุ้งขาวแวนนาไมมีราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันปาล์มทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นตามปริมาณผลผลิตปศุสัตว์ สำหรับปริมาณการผลิตกุ้งทะเลยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ความต้องการของตลาดอยู่ในระดับสูง 1.3 การส่งออกสินค้าเกษตร ขยายตัวร้อยละ 4.4 ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะปริมาณการส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นร้อยละ 69.3 จากการเร่งระบายข้าวของรัฐบาล ส่วนปริมาณการส่งออกมันสำปะหลังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไปยังประเทศจีนที่เป็นคู่ค้าที่สำคัญและมีความต้องการมันสำปะหลังเพื่อผลิต เอทานอลเพิ่มขึ้น แต่ราคาสินค้าส่งออก เช่น ข้าว ยางพารา น้ำตาล และมันสำปะหลังยังลดลงต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้ราคาส่งออกสินค้าเกษตรโดยรวมลดลงร้อยละ 9.7 สำหรับสินค้าประมงขยายตัวร้อยละ 4.7 สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ปลา และปลาหมึก สำหรับสินค้า กุ้ง ปู กั้ง และล็อบสเตอร์เริ่มหดตัวช้าลง 1.4 การค้าส่งค้าปลีก ขยายตัวร้อยละ 0.6 สอดคล้องกับการขยายตัวของการบริโภคภาคครัวเรือน และดัชนีความเชื่อมั่น ดัชนีการค้าส่งหมวดเชื้อเพลิงและวัตถุดิบการเกษตรเพิ่มขึ้น ขณะที่ดัชนีการค้าส่งหมวดวัสดุก่อสร้างลดลง สำหรับดัชนีการค้าปลีกหมวดอาหาร และสิ่งทอเพิ่มขึ้น 1.5 การจ้างงาน ขยายตัวร้อยละ 0.3 โดยการจ้างงานนอกภาคการเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 ในขณะที่การจ้างงานในภาคการเกษตรปรับตัวลดลงร้อยละ 2.2 โดยการจ้างงานภาคการเกษตรมีประมาณร้อยละ 35.2 ของการจ้างงานทั้งหมด 2. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2558 เศรษฐกิจไทยในปี 2558 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวจากปี 2557 โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญประกอบด้วยการส่งออกที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ภาคการท่องเที่ยวและการลงทุนที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในช่วงปลายปี 2557 การเร่งการใช้จ่ายและดำเนินโครงการลงทุนที่สำคัญของภาครัฐ และราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง ในขณะที่ปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัดที่ทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2558 ขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพประกอบด้วย เงื่อนไขด้านค่าเงินและนโยบายเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้า ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและเศรษฐกิจโลก และฐานรายได้ครัวเรือนภาคการเกษตรซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะความซบเซาของราคาสินค้า สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ คาดว่าจะยังอยู่ในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง โดยแรงกดดันด้านเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 3. ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2557 และในปี 2558 ควรให้ความสำคัญกับประเด็นต่างๆ ดังนี้ 3.1 การดูแลเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย โดย 1) เร่งรัดดำเนินการตามมาตรการการใช้จ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือชาวนาในวงเงิน 40,000 ล้านบาท และเกษตรกรชาวสวนยางในวงเงิน 8,200 ล้านบาท รวมทั้งดำเนินการตามมาตรการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก สินเชื่อเตรียมข้าวเปลือกขึ้นยุ้งฉาง และสินเชื่อเพื่อแปรรูปยางพารา 2) การลดต้นทุนปัจจัยการผลิตทางการเกษตรให้สอดคล้องกับราคาน้ำมัน ราคาสินค้าเกษตร และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ขั้นปฐมในตลาดโลกที่ลดลง รวมทั้งการอ่อนค่าของเงินตราสกุลต่างๆ 3) การเตรียมมาตรการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง 4) การเร่งรัดพัฒนาและส่งเสริมการใช้ระบบประกันภัยสินค้าเกษตร และการใช้กลไกตลาดในการบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนในราคาสินค้าเกษตร 5) การเร่งรัดส่งเสริมอุตสาหกรรมสินค้าเกษตรแปรรูป 3.2 การจัดทำมาตรการเพื่อดูแลแรงงานผู้มีรายได้น้อย แรงงานที่จำนวนชั่วโมงการทำงานน้อยลง แรงงานที่ถูกเลิกจ้าง และผู้ว่างงาน โดยส่งเสริมการอบรมพัฒนาทักษะและเพิ่มศักยภาพของแรงงาน เพื่อก่อให้เกิดอาชีพเสริมหรือทางเลือก รวมทั้งการสร้างงานสำหรับบัณฑิตที่จบใหม่เพื่อสร้างรายได้และเสริมทักษะเพิ่มเติมให้สามารถนำความรู้ และประสบการณ์ที่ได้รับไปปรับใช้ในการงานหรือประกอบกิจการส่วนตัว 3.3 การส่งเสริมการส่งออกให้สามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยดำเนินมาตรการระยะสั้นดังนี้ 1) เร่งดำเนินการกำหนดเป้าหมายและจัดทำยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนการส่งออกในปี 2558 โดยร่วมมือกับภาคเอกชนให้สามารถนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม 2) เจรจาและสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ ปรับลดอุปสรรคทางการค้าทั้งมาตรการภาษีและมิใช่ภาษี ภายในกรอบข้อตกลงประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งกำหนดปรับลดอัตราภาษีเป็นศูนย์ในปี 2558 3) เร่งรัดเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าที่สำคัญในปี 2558 โดยเฉพาะผลกระทบจากปัญหาการใช้แรงงานต่างชาติต่อการส่งออกกุ้งและสินค้าประมง 3.4 การเร่งรัด ติดตาม ประเมินผลการใช้จ่ายภาครัฐ ตามมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะ 3 เดือนแรก รวมทั้งการติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามโครงการและแผนงานด้านเศรษฐกิจที่สำคัญๆ ภายใต้แผนปฏิบัติราชการระยะ 1 ปี (2558) เช่น การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ และการปรับโครงสร้างภาคการผลิต 4. เศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียนมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นในปี 2558 โดยคาดว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซียจะขยายตัว เนื่องจากการลงทุนภาคเอกชนที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นตามความเชื่อมั่นภายหลังจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ส่วนเศรษฐกิจฟิลิปปินส์คาดว่าขยายเพิ่มขึ้น จากการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกซึ่งจะช่วยสนับสนุนการบริโภคในภาคครัวเรือนและการใช้จ่ายเพื่อการก่อสร้างที่ขยายตัวขึ้น สำหรับเศรษฐกิจเวียดนามคาดว่าขยายตัวเพิ่มขึ้นจากการส่งออกและมาตรการแก้ไขปัญหาสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ในภาคธนาคารที่ปรับตัวดีขึ้น ในขณะที่เศรษฐกิจมาเลเซียคาดว่าขยายตัวเพิ่มขึ้นจากการส่งออก แหล่งอ้างอิง : ข่าวทำเนียบรัฐบาล, รายการคืนความสุขในชาติ, วันที่ 17 พฤศจิกายน 2557
ป้ายกำกับ
ล่าสุด