image banner

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งได้รับใบรับรองระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยตามมาตรฐาน OHSAS 18001 : 2007

กุมภาพันธ์ 19, 2561 | ข่าวอาเซียน

       นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ผู้บริหารท่าอากาศยานหลัก 6 แห่งของประเทศไทย ประกอบด้วย ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่ เปิดเผยว่า
       ทอท. มีนโยบายความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยมุ่งเน้นในเรื่องของการปฏิบัติตามกฎหมาย การประเมินความเสี่ยง การควบคุมป้องกัน การปรับปรุงแก้ไข และการพัฒนาความรู้ความสามารถของพนักงาน โดยได้จัดฝึกอบรมด้านความปลอดภัยในการทำงานให้เป็นไปตามกฎหมายและสามารถนำไปปฏิบัติได้ เพื่อเป็นการยกระดับการดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ทอท. จึงได้จัดทำระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยตามมาตรฐาน Occupational Health and Safety Assessment Series (OHSAS 18001 : 2007) ให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากลและมีการจัดการด้านความปลอดภัยที่มีรูปแบบเดียวกัน ซึ่งระบบการจัดการดังกล่าว ดำเนินการตรวจประเมินโดยบริษัท Bureau Veritas Certification (Thailand) Limited และออกใบรับรองมีอายุครั้งละ 3 ปี โดยในปี 2560 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมืองผ่านการรับรองตามระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยตามมาตรฐาน OHSAS 18001 : 2007 เป็นครั้งแรก
       ขณะที่ สำนักงานใหญ่ ทอท. ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ผ่านการรับรองระบบเป็นครั้งที่ 2 หลังจากได้รับใบรับรองครั้งแรกในปี 2557 - 2559 สำหรับท่าอากาศยานเชียงใหม่และท่าอากาศยานหาดใหญ่ ได้รับใบรับรองดังกล่าวในปี 2559 และปัจจุบันอยู่ระหว่างการรักษาสถานภาพเป็นปีที่ 2
       ขณะที่กรมท่าอากาศยาน เตรียมขยายอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี รองรับการเป็นศูนย์กลางการบินในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี ในสังกัดกรมท่าอากาศยาน ปัจจุบันถือเป็นศูนย์กลางการบินของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เนื่องจากมีที่ตั้งอยู่ใกล้เขตเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดหนองคาย และนครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ระยะทาง 50 กิโลเมตร เป็นส่วนสำคัญของยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจชายแดน
       โดยที่ผ่านมาได้พัฒนาศักยภาพการรองรับเที่ยวบินและผู้โดยสารทำให้เกิดความเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีเที่ยวบินเชื่อมสุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา-ภูเก็ต-หาดใหญ่-เชียงใหม่ สามารถรองรับเครื่องบินขนาดโบอิ้ง 747 ได้พัฒนาระบบควบคุมการบินเพื่อเพิ่มจำนวนเครื่องบินขึ้น-ลง มีการปรับปรุงและก่อสร้างลานจอดรถ ระบบรักษาความปลอดภัย และภายในสนามบินให้เป็นมาตรฐานการบินสากล ปัจจุบันมีการขนส่งสินค้าทางอากาศผ่านท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานีมีสินค้าเข้า-ออกถึงปีละ 4,000 ตัน นอกจากนี้ ยังมีแผนพัฒนาการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 เพื่อรองรับจำนวนผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้น
 
แหล่งที่มา : ศูนย์ข้อมูลข่าวอาเซียน กรมประชาสัมพันธ์
ป้ายกำกับ
ล่าสุด