image banner

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

ความร่วมมือระหว่างไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

สิงหาคม 29, 2559 | ข่าวอาเซียน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในรายการ คืนความสุขให้คนในชาติ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2557 มีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตรและอาเซียนโดยสรุปได้ดังนี้ 1. ความร่วมมือระหว่างไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในด้านต่างๆ ดังนี้ 1.1 การเชื่อมโยงระหว่างประเทศ โดยครอบคลุมการบริหารจัดการค่าผ่านแดนศุลกากร การให้เงินกู้ยืน การสร้างสะพานแห่งที่ 5 (บึงกาฬ – ปากซัน) และพิจารณาโครงการการสร้างสะพานแห่งที่ 6 (อุบลราชธานี – แขวงสาละหวัน) 1.2 การสร้างถนนภายในประเทศและบริเวณแนวชายแดน เพื่อเพิ่มการค้าการลงทุนและเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และพัฒนาเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษชายแดนของไทย รวมทั้งการเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟสายหนองคาย 2. ความร่วมมือระหว่างไทยและสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามในด้านต่างๆ ดังนี้ 2.1 การขยายการค้า ซึ่งไทยตั้งเป้าหมายการค้าร่วมกันให้มีมูลค่า 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2560 ซึ่งจะมีการผลักดันด้านการส่งออกและนำเข้าสินค้า โดยเฉพาะสินค้าการเกษตร เช่น ข้าว ยางพารา และอื่นๆ 2.2 ด้านการลงทุน ระหว่างไทยและเวียดนามได้พิจารณาจัดตั้งกลไกคณะทำงานส่งเสริมและคุ้มครองด้านการลงทุนระหว่างกัน เช่น ข้อตกลงการคุ้มครองการลงทุน อนุสัญญายกเว้นการเก็บภาษีซ้อนเพื่อจะให้ได้ประโยชน์สูงสุด และการส่งเสริมให้ธนาคารไทยไปเปิดสาขาในเวียดนามมากขึ้น 2.3 การเชื่อมโยงระหว่างประเทศ โดยให้ความสำคัญกับเส้นทาง R8 R9 และ R12 เพื่อเชื่อมต่อไทย – ลาว – เวียดนาม และฝ่ายไทยเสนอการเปิดบริการรถโดยสาร เส้นทางระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยกับภาคกลางของเวียดนามในปี 2558 และสนับสนุนสายการบินต้นทุนต่ำของไทยที่ได้ร่วมเปิดเส้นทางใหม่ๆ กับธุรกิจสายการบินของเวียดนาม รวมทั้งไทยยังเสนอแผนการพัฒนาการเดินเรือตามแนวชายฝั่งทะเล 2.4 ไทยและเวียดนามได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ 3 ฉบับ ได้แก่ (1) แผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ไทย – เวียดนาม (2) แผนปฏิบัติการว่าด้วยการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไทย – เวียดนาม (3) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องระหว่างจังหวัดฉะเชิงเทรากับนครเกิ่นเทอ 2.5 ปัญหาการรุกล้ำน่านน้ำทั้ง 2 ประเทศ ได้มีการเจราจาประนีประนอมหรือช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และหาข้อตกลงในค่าต่างตอบแทนที่มีความยุติธรรมร่วมกัน 3. ความร่วมมือระหว่างไทยและสหพันธรัฐมาเลเซียในด้านต่างๆ ดังนี้ 3.1 ไทยและมาเลเซียให้ความสำคัญ เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน การสร้างความเชื่อมโยงทั้งทางรถและทางรางโดยเฉพาะพื้นที่ชายแดน ซึ่งไทยได้เร่งพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษสะเดา – ปาดังเบซาร์ โดยเชิญชวนนักลงทุนในประเทศมาเลเซียเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น รวมทั้งให้นักลงทุนไทยไปลงทุในมาเลเซียมากขึ้นเช่นเดียวกัน 3.2 มีการตั้งเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้าจาก 8 แสนล้านบาทในปี 2556 ให้ถึง 1 ล้านล้านบาทในปี 2558 ซึ่งไทยได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของไทย (BOI) พิจารณาปรับเปลี่ยนกฎ ระเบียบ เพื่อให้เอื้อต่อการลงทุนต่างประเทศ 3.3 โครงการ Rubber City เป็นนิคมอุตสาหกรรมเมืองยาง เพื่อส่งเสริมการแปรรูปยาง การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ยาง การส่งเสริมการจ้างงาน เป็นต้น ซึ่งไทยตั้งนิคมอุตสาหกรรมในภาคใต้ที่บ้านฉลุง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สำหรับมาเลเซียตั้งที่รัฐเกดะห์ 4. การแก้ไขกฎหมายเพื่อขจัดปัญหาการใช้แรงงานเด็กและการค้ามนุษย์ โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการ ออกกฎกระทรวงจำนวน 2 ฉบับ ดังนี้ 4.1 ร่างกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานเกษตรกรรม โดยกำหนดให้ลูกจ้างที่เข้าทำงานในเกษตรกรรมต้องมีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป และนายจ้างจะต้องจัดเวลาพักให้ลูกจ้างอย่างน้อย 1 ชั่วโมงหลังจากทำงานมาแล้วไม่เกิน 4 ชั่วโมง และห้ามเรียกหลักประกันการทำงานจากลูกจ้างเด็ก ห้ามให้ลูกจ้างทำงานอันตราย เช่น งานใช้เลื่อยไฟฟ้า งานปั๊มโลหะ และนายจ้างจะต้องจัดให้มีสวัสดิการต่างๆ กับลูกจ้าง อาทิเช่น น้ำดื่มที่สะอาด ที่พักอาศัยที่สะอาด เป็นต้น 4.2 ร่างกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล บังคับใช้กับเรือประมงทะเลที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป รวมทั้งเรือประมงทะเลที่อยู่นอกราชอาณาจักร โดยกำหนดอายุลูกจ้างจะต้องไม่ต่ำกว่า 18 ปี กรณีลูกจ้างตกค้างต่างประเทศเนื่องจากการทำให้งานให้นายจ้าง ให้นายจ้างจ่ายเงินเดือนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ แหล่งอ้างอิง : ข่าวทำเนียบรัฐบาล, รายการคืนความสุขให้คนในชาติ, 6 ธันวาคม 2557
ป้ายกำกับ
ล่าสุด