การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 25 ณ กรุงเนปิดอว์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 25 ณ กรุงเนปิดอว์ (Naypyidaw) สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ระหว่างวันที่ 12 – 13 พฤศจิกายน 2557 ร่วมกับผู้นำอาเซียนอีก 9 ประเทศ พร้อมด้วยเลขาธิการอาเซียน โดยมีนายเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่าเป็นประธานการประชุม โดยมีการทบทวนและพิจารณาว่าสิ่งใดที่ยังไม่ได้ดำเนินการ ผู้นำอาเซียนเห็นพ้องว่า อาเซียนจะต้องเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อยกระดับการดำรงชีวิตของประชาชน ลดช่องว่างการพัฒนา การศึกษาและการสาธารณสุข ทุกภาคส่วนได้รับประโยชน์จากประชาคมอาเซียน และส่งเสริมความเป็นแกนกลางของอาเซียน (ASEAN Centrality) สำหรับประชาคมอาเซียนภายหลังปี 2558 (Post ASEAN 2015 ) นั้น จะเป็นการกำหนดทิศทางของอาเซียนในอนาคต เบื้องต้นได้กำหนดวิสัยทัศน์อาเซียนในระยะเวลา 10 ปี (2559-2568) ในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับประเด็นเร่งด่วนที่ควรดำเนินการให้เกิดผล 4 ประเด็น ดังนี้ 1. ส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างประเทศสมาชิก เพื่อเป็นการสนับสนุนการเป็นประชาคมอาเซียน เพื่อความเชื่อมโยงจะนำไปสู่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และการค้าการลงทุนที่แนบแน่นยิ่งขึ้น ซึ่งไทยให้ความสำคัญและสนับสนุนการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนในภูมิภาค เพื่อกระจายความเจริญ ลดช่องว่างการพัฒนา เพิ่มการจ้างงานและห่วงโซ่ด้านการผลิตสินค้า และทำให้ประชาชนตามจุดเชื่อมต่อมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และหวังว่าความเชื่อมโยงจะนำไปสู่เศรษฐกิจที่เชื่อมโยงในภูมิภาค 2. อาเซียนต้องมีความพร้อมในการรับมือกับปัญหาข้ามชาติมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาการค้ามนุษย์และอาชญากรรมข้ามชาติ ไทยจึงให้ความสำคัญกับการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคและอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการค้ามนุษย์ให้แล้วเสร็จในปี 2558 เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหานี้อย่างรอบด้าน ทั้งการป้องกัน การดำเนินคดี การคุ้มครองช่วยเหลือ การพัฒนากลไกเชิงนโยบายและการสร้างหุ้นส่วนในภูมิภาค นอกจากนี้ ต้องร่วมกันสร้างอาเซียนเป็นประชาคมที่ปลอดจากยาเสพติดภายในปี 2558 โดยให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เป็นกลไกเพื่อขยายเครือข่ายความร่วมมือด้านการป้องกันและปราบปราม 3. การประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปก ซึ่งมีหัวข้อการรวมกลุ่มเศรษฐกิจและเปิดเสรีทางการค้าในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก นายกรัฐมนตรี เห็นว่า อาเซียนควรเร่งการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ให้แล้วเสร็จในปี 2558 ตามที่ได้เคยประกาศไว้ เพื่อช่วยขยายโอกาสทางการค้าการลงทุนของประเทศในภูมิภาค 4. ภูมิภาคอาเซียนมีความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ ไทยจึงเห็นว่าอาเซียนต้องร่วมกันรับมือกับภัยพิบัติ เพื่อมิให้กระทบต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนในภูมิภาค ดังนั้นต้องทำให้คณะทำงานร่วมของอาเซียนด้านการบรรเทาภัยพิบัติสามารถปฏิบัติงานได้จริงและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้อาเซียนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในการบรรเทาและลดผลกระทบจากภัยพิบัติให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แหล่องอ้างอิง กรุงเทพธุรกิจ. 2557. ประยุทธ์ เสนออาเซียนเร่ง 4 ประการ [ออนไลน์]. สืบค้นจาก http://www.bangkokbiznews.com รัฐบาลไทย. 2557. เวทีอาเซียนให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรีอย่างอบอุ่น [ออนไลน์]. สืบค้นจาก http://www.thaigov.go.th