image banner

Agricutural Land Reform Office

แปลงเกษตรกร นางสาวศุภลักษณา มุขมนตรี

มีนาคม 24, 2559 | ภาพข่าว

มะเขือเทศราชินี
 
 ประโยชน์ของมะเขือเทศ
           - มะเขือเทศมีสารที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา ดังนั้นจึงใช้ในโรคที่เกี่ยวกับเชื้อราในช่องปากได้
           - มะเขือเทศช่วยบำรุงผิว ลดริ้วรอย รักษาสิว สมานผิว ช่วยให้ผิวเต่งตึง จะใช้น้ำมะเขือเทศทาพอกหน้า หรือใช้มะเขือเทศสุกฝานบางๆ ปะบนใบหน้าแล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด จะช่วยให้ผิวหน้าอ่อนนุ่ม
          - มะเขือเทศมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ จึงสามารถใช้ลดอาการความดันเลือดสูงได้ - มะเขือเทศบำรุงสายตา เนื่องจากมีวิตามินเอสูงนั่นเอง
          - การกินมะเขือเทศลดอัตราเสี่ยงในการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากและโรคหลอดเลือดหัวใจ
 
            ปัจจุบันมีข้อมูลระบาดวิทยายืนยันว่า เมื่อมีการเพิ่มการกินมะเขือเทศจะลดอัตราเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและมะเร็งต่อมลูกหมาก
           ไลโคพีน เป็นคาโรทีนอยด์ที่ให้สีแดงแก่ผลมะเขือเทศ แตงโม ส้มโอ ฝรั่งและมะละกอ เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ลดการถูกทำลายของสารพันธุกรรมและโปรตีน
          ไลโคพีนจับกับเส้นใยได้ดี จะออกฤทธิ์ได้ดี ถ้าถูกปลดปล่อยจากเส้นใยโดยใช้ความร้อน ไลโคพีนละลายในไขมัน ป้องกันผิวหนังจากอันตราย ที่เกิดจากรังสีอัลตราไวโอเลตได้ดีกว่าบีตาแคโรทีน พบในปริมาณมากที่ผิวหนัง อัณฑะ ต่อมหมวกไต และต่อมลูกหมาก ป้องกันอวัยวะดังกล่าวจากการเกิดมะเร็ง ลดปริมาณไขมันแอลดีแอลในเลือด
 
 มะเขือเทศลดความเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมาก
           ผลงานรวบรวมงานวิจัยทางคลินิกตีพิมพ์ในสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2545-46 พบว่าการเลือกอาหารที่ถูกต้องสามารถทำให้การก่อตัวของมะเร็งต่อมลูกหมากเกิดช้าลง และสามารถป้องกันการเกิดมะเร็งดังกล่าวได้ การศึกษาทางคลินิกในวารสารวิจัยมะเร็งปี พ.ศ.2542 พบว่า ไลโคพีนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชนิดเดียวที่ความเข้มข้นในเลือดมีความสัมพันธ์ผกผันกับผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก พบว่ากลุ่มผู้ป่วยมีปริมาณไลโคพีน ในเลือดต่ำเมื่อเทียบกับชายปกติอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลชัดเจนมากในกลุ่มผู้ป่วยชายที่ไม่ได้กินบีตาแคโรทีนเป็นอาหารเสริม
           นอกจากนี้ ร้อยละ 83 ของผู้ร่วมวิจัยอายุระหว่าง 40 ถึง 75 ปีมีความเสี่ยงต่อมะเร็งต่อมลูกหมากลดลง เมื่อมีปริมาณไลโคพีนในเลือดสูงที่ 0.40 ไมโครกรัม/ลิตร อันเป็นปริมาณที่เทียบได้กับการกินผลิตภัณฑ์มะเขือเทศในรูปซอสราดสปาเก็ตตี้ 2 ครั้งหรือมากกว่าต่อสัปดาห์ ผลการศึกษาใช้ได้กับกลุ่มชายวัยกลางคนขึ้นไปที่ไม่มีประวัติมะเร็งต่อมลูกหมากทางกรรมพันธุ์เท่านั้น
           การทดลองเมื่อปี พ.ศ.2547 ที่มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา ในหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากโดยสารเมทิลไนโทรโซยูเรีย (N- methyl-N-nitrosourea) รอดสูงกว่าหนูที่กินอาหารปกติ ส่วนหนูที่ได้รับไลโคพีนบริสุทธิ์ร้อยละ 0.025 พร้อมอาหารมีอัตราการตายไม่ต่างจากกลุ่มควบคุม ทำ ให้นักวิจัยสันนิษฐานว่ามะเขือเทศมีสารทุติยภูมิอื่นนอกจากไลโคพีนที่ช่วยลดการลุกลามของมะเร็งต่อมลูกหมากได้
 
มะเขือเทศ ไลโคพีน กับ โรคหลอดเลือดหัวใจ
            งานวิจัยระบาดวิทยาหลายชิ้นชี้แนะว่าผู้ที่มีปริมาณไลโคพีนในเลือดสูงจะลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ การศึกษาระดับไลโคพีนในซีรั่ม ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีพิมพ์ในสหรัฐอเมริกาปี พ.ศ.2544 พบว่ามีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าระดับที่พบในคนทั่วไปในพื้นที่เดียวกัน ปริมาณไลโคพีนในซีรั่มมีความสัมพันธ์ผกผันกับความหนาของหลอดเลือดแดงคาโรติด
           งานวิจัยในยุโรปในปี พ.ศ.2540 พบว่าปริมาณไลโคพีนในไขมันอะดิโพสสะสมของผู้เข้าร่วมโครงการป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอย่างเป็นอิสระ แต่การศึกษาในกลุ่มเสี่ยงเพศหญิงปี พ.ศ.2546 พบว่าความสามารถในการลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจมีความสัมพันธ์กับปริมาณการกินมะเขือเทศมากกว่ากับปริมาณไลโคพีนในซีรั่ม ผู้ที่กินมะเขือเทศสัปดาห์ละ 7 ครั้งขึ้นไปลดความเสี่ยงต่อโรคดังกล่าวได้มากที่สุด
 
สารเควอร์เซตินและแคมป์ฟีรอล ต้านอนุมูลอิสระและต้านมะเร็ง
            สารทั้งสองเป็นสารฟลาโวนอยด์กลุ่มฟลาโวนอล พบมากในหอมหัวใหญ่ ต้นกระเทียม ชาขาว/ชาเขียว มะเขือเทศและแอปเปิ้ล มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสียหายของเซลล์ในร่างกายจากการทำลายของอนุมูลอิสระ ลดความเสียหายจากไขมันไม่ดี (แอลดีแอล) ต่อระบบหลอดเลือด มีฤทธิ์ต้านอักเสบและต้านมะเร็ง สารทั้งสองทำงานร่วมกันในการลดการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง และลดการต้านยาของเซลล์มะเร็ง เมื่อมีเควอร์เซตินและแคมป์ฟีรอลยาฆ่ามะเร็งจะออกฤทธิ์ได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
             นอกจากนี้ สารทั้งสองมีฤทธิ์เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในร่างกาย การกินมะเขือเทศราชินีซึ่งมีสารทั้งสองนี้มากบริเวณเปลือกผลจึงมีผลในด้านการควบคุมน้ำหนักอีกด้วย
            นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์จากมะเขือเทศเป็นแหล่งธาตุโพแทสเซียม สารโฟเลต วิตามินเอ ซี และ อี ที่ดีมีปริมาณโพแทสเซียมและโฟเลตในปริมาณใกล้เคียงกับผักยอดนิยมหลายชนิด แต่มีวิตามินซีและอัลฟ่าโทโคฟีรอล มากกว่าผักอื่นๆ นอกจากประโยชน์ด้านสารอาหารแล้ว มะเขือเทศ ยังมีสารประกอบทุติยภูมิที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย คือกลุ่มคาโรทีนอยด์และโพลีฟีนอล สารเด่นในกลุ่มคาโรทีนอยด์คือไลโคพีนและบีตา-แคโรทีนซึ่งเป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอ สารไฟโทอีน (phytoene) และไฟโทฟลูอีน (phytofluene)
            นอกจากนี้ มะเขือเทศมีสารฟลาโวนอยด์มากในรูปของกลุ่มฟลาโวนอล โดยพบมากที่สุดในผิวมะเขือเทศ เป็นร้อยละ 98 ของฟลาโวนอลทั้งหมดในผลมะเขือเทศ สารที่พบคือเควอร์เซติน (quercetin) และแคมป์ฟีรอล (kaempferol) ส่วนสารไลโคพีนนั้นพบในมะเขือเทศมากกว่าผักผลไม้อื่น มี 288 ไมโครกรัม/กรัม ในมะเขือเทศ 45 ไมโครกรัม/กรัม ในแตงโม และ 14 ไมโครกรัม/กรัม ในส้มโอสีชมพู นักวิจัยเชื่อว่าสารประกอบทุติยภูมิเหล่านี้มีส่วนช่วยลดอุบัติการของโรคหลอดเลือดหัวใจและมะเร็งต่อมลูกหมาก
 
ความลับของมะเขือเทศ
             มะเขือเทศเป็นผัก/ผลไม้ที่มีรสชาติถูกปากผู้บริโภค ทั้งนี้เป็นเพราะมะเขือเทศมีกรดอะมิโนกลูตามิกสูง กรดอะมิโนตัวนี้เป็นกรดอะมิโนตัวเดียวกับที่อยู่ในผงชูรส จึงเป็นเหตุให้มะเขือเทศเพิ่มรสชาติให้อาหารทุกชนิด
 
ข้อควรระวัง
           มะเขือเทศและผลิตภัณฑ์จากมะเขือเทศ มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน ผู้ที่มีอาการกรดไหลย้อนกลับ จึงควรกินมะเขือเทศและผลิตภัณฑ์จากมะเขือเทศ ในปริมาณจำกัด
 
แหล่งที่มา : นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่ม : 359 เดือน-ปี : 03/2552
คอลัมน์ : บทความพิเศษ นักเขียนหมอชาวบ้าน : รศ.ดร.สุธาทิพ ภมรประวัติ

ข้อมูลแปลงเกษตรกร นางสาวศุภลักษณา
ชื่อเกษตรกร นางสาว ศุภลักษณา มุขมนตรี
ชื่อเล่น ไก่
ที่ตั้งที่ดิน บ้านเลขที่ 80/167 หมู่ที่ 16 บ้านคลองบงพัฒนา ตำบลวังน้ำเขียว อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
พื้นที่ ส.ป.ก. ได้รับที่ดินตาม โครงการสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ หลักสูตรการพัฒนาผู้นำเกษตรกรรุ่นใหม่ รุ่นที่ 7 ปีงบประมาณ 2556 แปลงเลขที่ 167 พื้นที่นิคมเศรษฐกิจพอเพียงอำเภอวังน้ำเขียว เขตดำเนินการปฏิรูปที่ดินอำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
 
พิกัด UTM N 1598136 m. E 801322 m.
พิกัด Lat,Lon N 14.440283 องศา. E 101.795025 องศา.
ระดับความสูง 416 m. จากระดับน้ำทะเลปานกลาง