ภารกิจของศูนย์พัฒนาและส่งเสริมศิลปาชีพ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
ความเป็นมา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จำนวน ๔๔,๓๖๙ ไร่ แก่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เพื่อดำเนินการปฏิรูปที่ดินให้เกษตรกรเช่าทำกินและปลูกที่พักอาศัย ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๘ เป็นต้นมา
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเสด็จพระราชดำเนินตามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปทรงเยี่ยมราษฏรในทั่วทุกภาคของประเทศไทย พระราชกรณียกิจนี้ได้ทรงปฏิบัติติดต่อกันมานานหลายสิบปีแล้ว จึงทรงเห็นสภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริงของ ราษฏรว่า มีความทุกข์สุขอย่างไร ที่ทรงเป็นห่วงมากคือ ความยากจนของราษฏร จึงทรงมีพระราชประสงค์จะจัดหาอาชีพให้ราษฏรทำ เพื่อเพิ่มพูนรายได้ให้เพียงพอแก่การยังชีพ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงสนพระทัยในงานฝีมือพื้นบ้าน หรือศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน พระองค์จึงส่งเสริมในเรื่องนี้โดยการจัดให้ครูออกไปฝึกสอนราษฏร เป็นการช่วยปรับปรุงคุณภาพของงานให้ดียิ่งขึ้น เมื่อราษฏรมีความชำนาญแล้วผลงานที่ผลิตออกมาก็จะทรงรับซื้อด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ซึ่งงานนี้ต่อมาได้ขยายออกเป็น "มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๑๙ และได้ทรงจัดตั้ง "โรงเรียนฝึกอบรมศิลปาชีพ” ขึ้นแห่งแรกที่พระตำหนักจิตรลดา ในปี พ.ศ.๒๕๒๓ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชดำริจะจัดสร้างศูนย์ศิลปาชีพเพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่ง บริเวณใกล้เคียงกับพระราชวังบางปะอิน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งองคมนตรี และรองประธานกรรมการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ สรรหาที่ดินที่เหมาะสมสำหรับการจัดสร้างศูนย์ศิลปาชีพ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี จึงได้ประสานงานกับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กราบบังคมทูลเสนอที่ดินที่ได้รับพระราชทานไว้ที่อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก และอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้ทรงมีพระราชวินิจฉัย ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเสด็จไปทอดพระเนตรที่ดินแปลงที่อยู่ที่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และทรงคัดเลือกให้จัดตั้งศูนย์ศิลปาชีพขึ้นบนพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน ทรงพระกรุณาพระราชทานไว้ บนเนื้อที่ ๘๖๑ ไร่ ๒ งาน ๘๕ ตารางวา ต่อมาเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๒๓ คณะรัฐบาลได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อจัดตั้ง "ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” ขึ้น โดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นเจ้าของเรื่อง และ ส.ป.ก.เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการก่อสร้างปรับปรุงพื้นที่และดูแลรักษา ตลอดจนเป็นหน่วยงานกลางในการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามวัตถุประสงค์ เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๗ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดศูนย์ศิลปาชีพบางไทรฯ ด้วยพระองค์เอง และทรงมอบหมายให้ นายธานินทร์ กรัยวิเชียรองคมนตรี เป็นผู้รับผิดชอบบริหารงานจนถึงทุกวันนี้
แนวทางการดำเนินงานและบทบาทของ ส.ป.ก.
ศูนย์ศิลปาชีพบางไทรฯ เริ่มดำเนินการฝึกอบรมงานศิลปาชีพมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๗ โดยรับสมัครผู้สนใจผ่าน ส.ป.ก.จังหวัดและสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ปัจจุบันเปิดให้การฝึกอบรมศิลปาชีพสาขาต่าง ๆ รวม ๓๐ แผนก สำหรับหลักสูตรศิลปาชีพแต่ละสาขาวิชาช่างของศูนย์ศิลปาชีพบางไทรฯ มุ่งเน้นการฝึกทักษะและการปฏิบัติตามหลักสูตรฝึกอบรม ๔ ประเภทวิชา ได้แก่ ศิลปกรรม คหกรรม อุตสาหกรรมศิลป์ และช่างอุตสาหกรรม โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการฝึกอบรม ๓ ประเภท คือ ประการแรก เพื่ออนุรักษ์ศิลปะไทยโบราณให้คงอยู่สืบไป โดยคงรูปแบบดั้งเดิมไว้ทุกประการ เช่น การทำหัวโขน การทำหุ่นกระบอก การเขียนลายรดน้ำ เป็นต้น ประการที่สอง เพื่อปรับปรุงดัดแปลงศิลปะไทยดั้งเดิมให้เป็นไปตามกาลสมัย เช่น จิตรกรรมประยุกต์ เบญจรงค์ประยุกต์ ประติมากรรมร่วมสมัย เป็นต้น ประการที่สาม เพื่อสร้างสรรค์ ผลงานในรูปแบบศิลปะสมัยใหม่หรือศิลปะสากลซึ่งมิได้มีข้อจำกัดเฉพาะศิลปะไทยเท่านั้น เช่น การออกแบบเครื่องเคลือบดินเผา การเขียนภาพบนกระเบื้องเคลือบ เป็นต้น
ส.ป.ก. ได้สนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ศิลปาชีพบางไทรฯ โดยมอบหมายให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินทุกจังหวัด ประชาสัมพันธ์การฝึกอบรมศิลปาชีพพร้อมรับสมัครและคัดเลือกผู้สนใจเข้ารับการฝึกอบรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด และยังได้รับเบี้ยเลี้ยงคนละ ๒๑๐ บาท ต่อวันตลอดหลักสูตร โดยศูนย์ศิลปาชีพบางไทรฯ ได้ให้การสนับสนุนค่าวัสดุอุปกรณ์การฝึกอบรมพร้อมจัดเตรียมที่พักอาศัยและสวัสดิการต่างๆ ให้แก่ผู้เข้าร่วมการฝึกอบรม ปัจจุบัน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้ดำเนินการรับสมัครและคัดเลือกบุคคลเข้ารับการฝึกอบรมศิลปาชีพในสองรูปแบบ ได้แก่
๑.) การฝึกอบรมศิลปาชีพเพื่อวิสาหกิจชุชน โดยพิจารณาคัดเลือกวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อฝึกฝนและพัฒนาทักษะในเรื่องศิลปหัตถกรรมและผลิตภัณฑ์ชุมชนให้ตรงกับความต้องการ เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ให้กับสมาชิกวิสาหกิจชุมชน
๒.) การฝึกอบรมศิลปาชีพเพื่อบุคคลทั่วไป โดยพิจารณาคัดเลือกบุตรหลานของเกษตรกรในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะและอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมไทย โดยแบ่งเป็นปีละ ๒ รุ่น ๆ ละ ๖ เดือน (รุ่นที่ ๑ เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมของทุกปี และรุ่นที่ ๒ เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนของทุกปี) ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมศิลปาชีพ รับผิดชอบการซ่อมบำรุง ดูแลรักษาอาคารสถานที่และการฝึกอบรมศิลปาชีพ ซึ่งต้องดูแลรักษาเป็นประจำเป็นพื้นที่ ๒๘๐ ไร่