Screen display
1764 Service center
TH EN
image banner

Agricutural Land Reform Office

ส.ป.ก.เข้าร่วมการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ ๔๒ สมัยพิเศษ (Special SOM-42nd AMAF) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ผ่านระบบการประชุมทางไกล Blue Jean

สิงหาคม 23, 2564 | กิจกรรม ส.ป.ก.


วันที่ ๒๓ - ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๔ นายวุฒิพงศ์ เนียมหอม รองเลขาธิการ ส.ป.ก. ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แทน (Delegate) เข้าประชุมร่วมกับ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ (SOM-AMAF Leader) ของฝ่ายไทย ในการเข้าร่วม ๓ การประชุมสำคัญ ได้แก่
๑. การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ ๔๒ สมัยพิเศษ (Special SOM-42nd AMAF) ในวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๔ ซึ่งมีประเด็นเกี่ยวกับ
๑.๑ ผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓ เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ ซึ่งเวียดนามเป็นประธานอาเซียน โดยเน้นย้ำถึงประเด็นความร่วมมือด้านอาหาร การเกษตรและป่าไม้ อาทิ แผนงานประชาคมอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ และแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน และผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ ๒๗ ระหว่างวันที่ ๒ - ๓ มีนาคม ๒๕๖๔ โดยมีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการติดตามแผนการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียนและการดำเนินการตามข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (The Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) รวมทั้งความจำเป็นในการใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลอย่างต่อเนื่องในอาเซียนเพื่อจัดการกับความท้าทายที่ประเทศสมาชิกอาเซียนเผชิญจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19
๑.๒ การรายงานผลการดำเนินงานตามผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมของปี 2564 ใน 4 ด้าน ได้แก่ ปศุสัตว์ พืช ประมง และป่าไม้ และข้อเสนอผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมของปี 2565 ในอีก 6 ด้าน ซึ่งเพิ่มด้านอาหารและการวิจัยและพัฒนาเข้ามา
๑.๓ การรายงานความก้าวหน้าของกิจกรรมความร่วมมือภายในอาเซียนรายสาขา ซึ่งมีด้วยกัน ๑๒ สาขา/คณะทำงาน แบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ ความร่วมมือด้านอาหาร ความร่วมมือด้านเกษตรกรรม และความร่วมมือด้านการค้าในภาคการเกษตรและผลิตภัณฑ์ป่าไม้ โดยที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบเอกสาร จำนวน ๒๕ ฉบับ และรับทราบเอกสาร จำนวน ๔ ฉบับ
๑.๔ การรายงานความก้าวหน้าภายใต้ความร่วมมือด้านอาหาร การเกษตร และป่าไม้ กับองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ ธนาคารโลก (World Bank) องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organization for Economic Cooperation and development: OECD)
๑.๕ การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ ๔๓ สมัยพิเศษ และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ในปี พ.ศ. ๒๕๖๕
๒. การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ กับเจ้าหน้าที่อาวุโสของจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ ๒๐ สมัยพิเศษ (Special SOM-20th AMAF Plus three) ในวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๔ ซึ่งเป็นการรายงานความก้าวหน้าของกิจกรรมความร่วมมือระหว่าง อาเซียนกับ ๓ ประเทศ (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี) โดยมีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับ การพัฒนาที่ยั่งยืนความมั่นคงทางด้านอาหาร ข้อปฏิบัติและการปรับตัวทางด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเพิ่มผลิตภัณฑ์ทางด้านอาหาร ความหลากหลายทางพันธุกรรมและการเพิ่มคุณค่าห่วงโซ่อาหาร การส่งเสริมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีทางด้านการเกษตร ฯลฯ
๓. การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ กับเจ้าหน้าที่อาวุโสของสหพันธรัฐรัสเซีย ครั้งที่ ๖ (6th ARSOMA) ในวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๔ โดยมีการรายงานความก้าวหน้าของโครงการความร่วมมืออาเซียน-รัสเซียด้านอาหารและความมั่นคงทางอาหาร และรัสเซียแสดงเจตจำนงในการทำความร่วมมือกับประเทศในอาเซียนสาขาการพัฒนาชนบท
ทั้งนี้ ส.ป.ก. เข้าร่วมประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยใช้โปรแกรมบลูยีนส์ (Blue Jeans) ณ ห้องประชุมประเสริฐพันธุ์ พิพัฒนกุล ส.ป.ก. ถนนราชดำเนินนอก

ภาพ/ข่าว : กลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักวิชาการและแผนงาน
ประสานข้อมูล : สมเกียรติ ดีมั่น
tagClouds
latest