คปก. อนุมัติโครงการพัฒนา ยึดคืนพื้นที่ตามคำสั่ง คทช.
พร้อมพัฒนาศักยภาพพื้นที่รองรับการขยายตัวของชุมชน
เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเกษตรกร
เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๓.๐๐ น. ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมช.กษ.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) ครั้งที่ ๒/๒๕๖๔ ณ ห้องประชุมไชยยงค์ ชูชาติ ส.ป.ก. ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ ซึ่งการจัดประชุมในครั้งนี้ เป็นการประชุมผ่านระบบออนไลน์ (Video Conference) โดยมีวาระสำคัญในการอนุมัติโครงการและใช้เงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในแปลงที่ดินที่ได้จากการยึดคืนพื้นที่ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๓๖/๒๕๕๙ ตลอดจนการอนุมัติกรอบวงเงินการดำเนินแผนงานและงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ ของ ส.ป.ก.
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า (รมช.กษ.) เปิดเผยว่า รัฐบาลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้เร่งแก้ปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง โดยการจัดที่ดินทำกินให้แก่พี่น้องเกษตรกร ซึ่งในที่ประชุม คปก. ได้พิจารณาโครงการและใช้เงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในแปลงที่ได้จากการยึดคืนพื้นที่ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๓๖/๒๕๕๙ ในพื้นที่จังหวัดชุมพร ๑ แปลง (แปลง No. ๘๓) จังหวัดกระบี่ ๒ แปลง (แปลง No. ๖๐๑ และ ๖๐๓) และจังหวัดเชียงใหม่ ๕ แปลง (แปลง No. ๗๘๖, ๗๘๗, ๗๘๘, ๗๘๙ และ ๗๙๐) ซึ่งเป็นการปรับพื้นที่ และปรับปรุงถนนสายหลัก ผิวจราจรหินคลุก ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแปลงและขนส่งผลผลิตจากแปลงไปสู่ตลาดได้สะดวกยิ่งขึ้น ตลอดจนการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรแบบครบวงจร การขุดสระ โครงการขุดบ่อบาดาล รวมทั้งระบบสูบน้ำแบบโซล่าร์เซลล์ และแหล่งน้ำผิวดิน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำเกษตรกรรมของเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อให้มีแหล่งน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคและภาคการเกษตรอย่างเพียงพอและทั่วถึง นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้อนุมัติการกำหนดขอบเขตวงรอบที่ดินชุมชนในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้สอดคล้องกับประกาศ คปก. ทั้ง ๒ ฉบับ เพื่อดำเนินการจัดที่ดินชุมชน กิจการที่เป็นการบริการหรือเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของเกษตรกรในด้านเศรษฐกิจและสังคมรวมถึงที่อยู่อาศัย ซึ่งโครงการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์กับประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่อันจะก่อให้เกิดประโยชน์โดยรวมแก่ประเทศ
เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการกำหนดขอบเขตวงรอบที่ดินชุมชนในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ในพื้นที่ที่ คปจ. ได้อนุญาตให้ดำเนินการจัดที่ดินชุมชนแล้ว จำนวน ๑๐,๔๙๕ ชุมชน ๗๑๕,๓๐๓ ราย/แปลง เนื้อที่รวม ๔๗๘,๕๕๒ ไร่ เฉพาะในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่ไม่ทับซ้อนกับแนวเขตที่ดินของหน่วยงานอื่น และมอบให้ ส.ป.ก. ปรับปรุงขอบเขตวงรอบที่ดินชุมชนในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ซึ่ง ส.ป.ก. ร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง กำหนดขอบเขตวงรอบชุมชนในเขตปฏิรูปที่ดินพื้นที่ที่มีอัตราการขยายตัวสูง โดยไม่ทำให้สาระสำคัญของขอบเขตวงรอบที่ดินชุมชนในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนการกำหนดขอบเขตวงรอบที่ดินชุมชนในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามแผนงานจัดที่ดินชุมชน ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔ จำนวน ๑๒๖ ชุมชน ในพื้นที่ ๒๓ จังหวัด เพื่อดำเนินการจัดที่ดินกิจการที่เป็นการบริการหรือเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของเกษตรกรในด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงที่อยู่อาศัย ให้เป็นไปตามประกาศ คปก. เรื่อง การจัดที่ดินชุมชนในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ประกาศ ณ วันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ และประกาศ คปก. เรื่อง รายการกิจการอื่นที่เป็นการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ประกาศ ณ วันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๓
ข่าว : ธิดารัตน์ ซุ้ยขาว
ภาพ : สมเกียรติ ดีมั่น, สมชาติ รัตนมาลี